ไก่ชนสายพันธุ์พม่า กำลังได้รับความนิยม ปัจจุบันเกษตรกรจะสนใจทำฟาร์มไก่ชนพันธุ์นี้กันเพราะไก่ชนพม่านั้นกำลังมีราคาดีทีเดียว เพราะเพิ่งเข้ามาสู่ตลาดบ้านเราไม่นาน
ด้วยทรงที่ตัวเล็กทำให้ลีลาการออกตีมีชั้นเชิงเยี่ยมยุทธ์ มีหลายลีลาที่ชวนให้นักเลงไก่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นการหลบหลีกเก่ง รอจังหวะเข้าตีคู่ต่อสู้ โยกตัวหนีเก่ง และลีลาชั้นยอดอยู่ที่การดีดแข้งที่หาไก่ชนพันธุ์อื่นมาเทียบไก่พม่าได้ยาก ต้องนับว่าเป็นไก่เจ้ามายา มีเล่ห์เหลี่ยมเยอะ ชอบแทงหูแทงตา สนับปีกหนา
ไก่พม่าพันธุ์แท้นั้นมีข้อด้อยคือตัวเล็ก ต่อให้เก่งแค่ไหน เซียนไก่ก็ไม่รู้จะนำไก่ไปชนกับใคร ดังนั้นการจะทำฟาร์มไก่พม่า จะต้องใช้ไก่ลูกผสมไทยพม่า โดยให้มีเลือดไก่พม่าเพียงร้อยละ 25 เพื่อจะคงชั้นเชิงเยี่ยมยุทธ์ไว้ แต่ให้ไซส์ขยายขึ้นให้พอฟัดพอเหวี่ยงกับไก่ตัวอื่นได้บ้าง
การเลี้ยงไก่พม่าให้มีราคานั้น ต้องพัฒนาให้ไก่บินดีตีเจ็บ โดยเริ่มต้นเลี้ยงในสุ่ม กำจัดไรออกจากตัวด้วยแชมพู แล้วให้ไก่ออกกำลังด้วยการ บินกล่อง และให้อยู่ในกรงที่มีพื้นที่ เพื่อให้หัดบินต่ำๆ ได้ แล้วจึงหัดให้ชกอาทิตย์ละครั้ง หรืออาจจะทุก 10 วันก็ได้ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย และที่สำคัญคือไม่ควรลงขมิ้น และต้องมีการควบคุมน้ำหนักตัวไก่ให้ดี โดยสังเกตว่าน้ำหนักเท่าไรที่ไก่พม่าบินได้ดี ให้ยึดเอาน้ำหนักช่วงนั้นเป็นมาตรฐาน อย่าให้น้ำหนักมากกว่านั้น และอย่าพยายามลดน้ำหนักไก่ เพราะถ้าไก่ไม่สมบูรณ์เซียนไก่เขาก็ไม่ซื้อไปตี อาหารที่ใช้ในการเลี้ยงไก่พม่านั้น จะใช้ข้าวเจ้าและบอระเพ็ดสดเลี้ยง เป็นการบำรุงไปด้วยในตัว
ทีนี้เรามาต่อด้วยสายพันธุ์ของไก่พม่ากัน ว่าตอนนี้ไทยเรามีอยู่ 4 พันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แม่สะเรียง มีขนาดลำตัวและไหล่ที่เล็ก เน้นความพลิ้วในการตี เพราะยิ่งเล็ก ยิ่งคล่องตัวสูง จุดสังเกตของไก่สายพันธุ์นี้คือหลังต้องนูนแบบหลังเต่า และปีกใหญ่และหนาชัดเจน พันธุ์ต่อมาคือสายพันธุ์สายพม่าง่อน ได้เปรียบในเรื่องโครงสร้างของกระดูกที่สมบูรณ์ สมส่วน ลีลาดี แข็งแรง เลี้ยงง่าย ถัดมาคือไก่พม่าสายรำวง ลีลาเด็ดตรงตีวงเก่ง โยกสลับซ้ายขวาจนคู่ต่อสู้เข้าไม่ถึง และสายพันธุ์สุดท้ายคือสายพันธุ์พม่าและไต้หวัน เป็นไก่ลูกผสมที่มีกระดูกแข็งแรง ตัวใหญ่ขึ้น ตีเจ็บ
ถ้าเกษตรกรคนใดอยากทำฟาร์มไก่ชน อาจจะต้องศึกษาข้อมูลพันธุ์ไก่ชนให้เยอะๆ เพราะตลาดนี้ยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก และมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนด้วย