ด้วงมะพร้าว หรือด้วงสาคู จัดเป็นหนึ่งในแมลงทานได้ที่คนต่างชาติเรียกกันว่า Edible insects ลักษณะภายนอกจะมีลำตัวสีน้ำตาลเข้ม บริเวณอกด้านบนจะแซมด้วยจุดสีขาว ด้วงมะพร้าวที่โตเต็มที่จะมีปีก บนปีกจะมีลวดลายเป็นเส้นลายทางตามแนวปีก ความยาวของตัวด้วงประมาณ 1-1.5 นิ้ว ด้วงตัวเมียจะแตกต่างจากด้วงตัวผู้โดยมีตัวเมียจะมีขนที่งวงและมีงวงที่ยาวและเรียวกว่าตัวผู้
ด้วงชนิดนี้พบอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพราะด้วงมะพร้าวชอบอากาศร้อนชื้น แต่จะมีชุกชุมในทางตอนใต้ของประเทศ แต่ก่อนเคยเป็นศัตรูพืชของกลุ่มปาล์ม มะพร้าว และต้นสาคู ที่คอยเจาะกินต้นไม้เหล่านั้นจนต้นไม้ตายกันเลย และด้วงมะพร้าวสามารถแพร่พันธุ์ได้เร็วมาก ตัวเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ประมาณ 400 ฟองภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน แพร่กระจายทำลายต้นมะพร้าว ต้นปาล์มไปทั่ว
แต่ตอนนี้ ด้วงมะพร้าว กลายมาเป็นแมลงแสนอร่อยสำหรับมนุษย์โลก สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ เพราะรสชาติอร่อย อุดมไปด้วยโปรตีน จนคนต่างชาติจัดให้เป็น Super Protein มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ในบ้านเราก็จะนำมาทำได้หลายเมนูพอๆ กับเมนูเนื้อสัตว์ประเภทอื่นเลย ส่วนของต่างชาติเมื่อนำเข้าไปแล้ว ส่วนใหญ่จะนำไปบดเป็นแป้งเพื่อผสมในขนมปัง เป็นการเพิ่มโปรตีน
ด้วยวงจรชีวิตของด้วงมะพร้าวที่สั้น เติบโตไว น้ำหนักตัวเยอะ ทำให้ขายได้ราคาดี อีกทั้งยังเลี้ยงง่าย จึงทำให้เกษตรกรหลายคนหันมาเลี้ยงมากขึ้น ทั้งเลี้ยงแบบเดิมๆ ด้วยสาคูและลาน และเลี้ยงในกะละมังด้วยทางปาล์ม ขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่ามีอาหารประเภทไหน แต่เราจะมาคุยเรื่องเลี้ยงในกะละมังกัน เพื่อพวกเราในทุกๆ ภาค อาจจะอ่านเป็นแนวทางในการเลี้ยงได้
เริ่มต้นด้วยการเตรียมอาหารที่จะนำมาเลี้ยงด้วงกันก่อน บดต้นสาคูในน้ำแล้วแช่ทิ้งไว้ 1 คืน และนำอาหารไก่มาผสมกับต้นสาคูบดแช่น้ำ นำพ่อพันธุ์ 2 ตัวและแม่พันธุ์ 3 ตัวปล่อยลงในกะละมัง แล้วเทลงกะละมังให้ชุ่ม ตัดกล้วยสุกเป็นท่อนๆ ลงไปด้วย 1 ลูก และกลบด้านบนด้วยกาบมะพร้าว ให้ด้วงมีที่พรางตัวได้ ทุก 2 สัปดาห์เราก็ต้องเติมอาหาร 1 ครั้ง เมื่อครบ 45 วัน เราก็นำออกขายได้แล้ว เฉลี่ยแล้วจะได้ผลผลิตราว 500-700 กรัมต่อกะละมังขนาด 50 นิ้ว
ส่วนใหญ่เราจะขายเป็นด้วงมะพร้าวสดกัน แต่ถ้ายอมเสียเวลาทำความสะอาด ล้าง-ลวกด้วงแล้วนำไปแช่แข็ง ก็จะได้ด้วงมะพร้าวชั้นเลิศที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานและส่งขายได้ทั่วโลก ทำให้ได้ราคาดีอีกด้วยครับ