“ปลาตะกรับ” เป็นสัตว์น้ำทะเลที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเพราะมีหลากชนิดและหลายสีและขนานนามว่า ปลาเสือดาว ตามแถบสีอันงดงามบริเวณลำตัวของปลา และยังมีความสามารถในการทำความสะอาดตู้ปลาได้เป็นอย่างดี บ้างก็เรียกขานกันว่าปลาขี้ตัง บ้างก็เรียกว่าปลากระทะ มักอาศัยตามชายฝั่งที่และป่าชายเลน รวมไปถึงบริเวณปากแม่น้ำที่เป็นแหล่งน้ำกร่อย
อย่างไรก็ตามปลาชนิดนี้ยังมีความสามารถในการอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดได้ด้วย สามารถพบปลาชนิดนี้ได้ในแหล่งน้ำทะเลตั้งแต่โซนตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก เอเชียอาคเนย์และแถบออสเตรเลีย ในประเทศไทยเราจะนำปลาชนิดนี้มาประกอบอาหารและเป็นหนึ่งในปลาทะเลที่เป็นที่นิยมในภัตตาคารต่างๆ เพราะมีรสชาติอร่อย เป็นเมนูที่นักท่องเที่ยวนิยมสั่ง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสัญชาติจีนจะนิยมเป็นอย่างมาก
ปลาตะกรับ จะมีลักษณะลำตัวที่สั้น กว้าง แบน หัวและหางมน มีเกล็ดขนาดเล็กสากมือ สีพื้นของลำตัวแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด มีทั้งสีเทา สีเขียว สีน้ำตาล และจะมีจุดสีเทาเข้มหรือดำปกคลุมไปทั่วทั้งลำตัว ครีบหางและครีบหลังมีสีออกเหลือง ปลาตัวเมียจะมีลำตัวขนาดใหญ่กว่าปลาตัวผู้เล็กน้อย ปลามีความยาวถึง 38 เซนติเมตร กินซากพืช ซากสัตว์และสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร พบมากในภาคใต้ของประเทศไทย
การเลี้ยงปลาตะกรับ สามารถเลี้ยงได้โดยการวางกระชังในบ่อกุ้งหรือจะเลี้ยงในบ่อดินแบบผูกกระชุงติดเสาและแบบใช้แพก็ได้ แต่สำหรับผู้เพาะเลี้ยงมือใหม่ที่ยังไม่ชำนาญ ขอแนะนำให้เลี้ยงแบบผูกกระชังติดไว้กับเสาเพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนแรกเริ่มที่สูงเกินไปนัก กระชังจะต้องมีความถี่ของอวนแตกต่างกันไปตามขนาดและช่วงวัยของปลาที่เลี้ยง โดยปลาที่ใช้เลี้ยงลูกปลาจะมีตาที่ถี่ที่สุด เมื่อปล่อยลูกปลาลงกระชังและเลี้ยงไปราว 30 วัน จึงย้ายลูกปลาไปลงกระชังที่มีอวนที่มีตาขนาด 1 เซนติเมตร และหลังจากนั้นอีก 60 วันจึงย้ายไปลงในกระชังที่มีตาข่ายขนาด 1 นิ้วต่อไป เลี้ยงต่อในกระชังนี้ต่อไปจนปลาได้ขนาดตลาดจึงทำการจับไปขาย อวนที่เลือกมาใช้เป็นกระชังเลี้ยงนั้นควรเป็นชนิดโปร่ง เพื่อให้น้ำและอากาศไหลเวียนถ่ายเทได้สะดวก รวมทั้งการติดตั้งกังหันน้ำเพื่อช่วยหมุนเวียนน้ำให้เกิดอากาศมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของปลา ส่วนการให้อาหารนั้น นอกจากการให้อาหารปลาแบบเม็ดต้องมีการเสริมอาหารประเภทสาหร่ายและแพลงตอนไปด้วย ใช้เวลาเลี้ยงตั้งแต่เป็นลูกปลาจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 8 เดือนก็สามารถทำเงินได้