รู้หรือไม่…แมลงที่ได้ชื่อว่าเป็นนักร้องประสานเสียงแห่งฤดูกาล(ฤดูร้อน) คือ “จักจั่น” ซึ่งกลายเป็นแมลงสุดฮิต แต่ที่หายากที่สุดคือ “ตัวอ่อนจักจั่น“ ที่นิยมนำมาทอดขาย ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 3,500 บาทกันเลยทีเดียว
จักจั่น(Cicadas) อ่านว่า จัก-กะ-จั่น แต่คนทั่วไปมักเรียกว่า จั๊ก-กะ-จั่น เป็นชื่อแมลงชนิดหนึ่งรูปร่างคล้ายตัวเหลือบ แต่โตกว่า สีเขียวปนน้ำตาล เกาะอยู่ตามต้นไม้ ลักษณะเด่นของจักจั่นคือตัวผู้สามารถส่งเสียงดัง ซึ่งคนเข้าใจว่าเป็นเสียงร้อง ด้วยเหตุนี้อีสปนักเล่านิทานชาวกรีกจึงแต่งนิทานเรื่องมดกับจักจั่น ให้จักจั่นเป็นตัวแทนของผู้ที่รักความสุขสำราญ ชอบร้องเพลง ส่วนมดเป็นตัวแทนของผู้ที่ขยันอดทน
ความจริงแล้ว เสียงร้องกังวานของจักจั่น เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่านี่คือฤดูร้อน ตัวอ่อนจักจั่น ที่อยู่ใต้ดินมานาน โดยทั่วไปอยู่ถึง 4-6 ปี เคยพบบางชนิดอยู่ได้ถึง 17 ปีเลยทีเดียว จนเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิพื้นดินสูงขึ้น จักจั่นจะโผล่ขึ้นมาเกาะตามลำต้นของต้นไม้เพื่อลอกคราบก่อนที่เป็นตัวเต็มวัย เสียงของจักจั่นที่ดังมากกว่า 100 เดซิเบล และจักจั่นบางชนิดมีเสียงร้องดังถึง 120 เดซิเบล จัดเป็นแมลงที่ส่งเสียงร้องดังที่สุด
เสียงร้องของจักจั่น เป็นเสียงที่จักจั่นตัวผู้ใช้เพื่อหาคู่ และไม่ได้มาจากหลอดเสียงเหมือนสัตว์ทั่วๆ ไป แต่เป็นการคลายตัว-หดตัวของกล้ามเนื้อส่วนท้อง สลับกันจึงเกิดเสียงอันเป็นเอกลักษณ์
การส่งเสียงนี้ ยิ่งเสียงดัง ยิ่งโดดเด่นต่อตัวเมีย และฤดูกาลผสมพันธุ์ของจักจั่นจึงเกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อตัวเมียวางไข่ตามเปลือกไม้แล้วก็จะหมดอายุขัย รวมๆ แล้วตัวเต็มวัยจะมีอายุ 2-4 เดือน จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราจึงได้ยินเสียงกังวานของจักจั่นในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น
จักจั่น เป็นแมลงที่ช่วยสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี ถ้าป่ามีต้นไม้ก็จะมีแมลงจักจั่น เพราะจักจั่นช่วงที่เป็นตัวอ่อน จะอาศัยอยู่ในปล่องที่ขุดลึกลงไปใต้ดิน บางชนิดขุดลึกลงไปเดือบ 3 เมตร ดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากของต้นไม้เป็นอาหารนาน 2-5 ปี หลังจากนั้นจะขึ้นมาลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัย จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกเพียง 2-4 สัปดาห์ เพื่อจับคู่ผสมพันธุ์
ช่วงจับคู่ผสมพันธุ์ จักจั่นตัวผู้จะส่งเสียงร้อง ซึ่งจะเป็นเสียงร้องเฉพาะของแต่ละชนิด ส่วนตัวเมียจะไม่มีเสียง และเสียงที่เราได้ยินเป็นเสียงที่เกิดจากการขยับปีกทำเสียง แหล่งกำเนิดเสียงอยู่ที่บริเวณใต้ลำตัวของท้องปล้องแรกต่อกับส่วนอก โดยมีเหตุผลในการทำเสียงหลายอย่างด้วยกันเช่น เตือนภัย เรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย คนสมัยก่อนเมื่อจักจั่นเริ่มส่งเสียงก็เป็นสัญญาณให้รู้ว่า “ฤดูร้อน” ได้เริ่มขึ้นแล้วนั่นเอง