“วิกฤติเมล็ดพันธุ์” พันธุกรรม มรดกแห่งชีวิต

235156 e1610008377192 840x420 1

ความสำคัญของการเก็บเมล็ดพันธุ์ และความมั่นคงทางอาหาร

“เมล็ดพันธุ์คืออาหาร อาหารคือชีวิต ไม่มีอาหารก็ไม่มีชีวิต เมล็ดพันธุ์จึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อย่างแยกกันไม่ได้ หากเมล็ดพันธุ์หายไป ชีวิตเราก็จะแย่ลง” ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์มีราคาสูงมาก การมีเมล็ดพันธุ์จึงช่วยลดต้นทุนได้มหาศาล

“พืชแต่ละพันธุ์จะมีการทนทานโรคระบาด ฝนแล้ง สภาพอากาศอื่น ๆ ที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อเน้นพัฒนาเพียงแค่สายพันธุ์เดียว เมื่อเผชิญกับ วิกฤตอะไรสักอย่างก็จะจบ ความมั่นคงก็จะลดน้อยลง เมล็ดพันธุ์เป็นความมั่นคงของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ทุกอย่างอยู่ได้ด้วยความหลากหลายของสรรพสิ่ง ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด วันนี้ชีวิตเรากลับไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของบริษัทไม่กี่บริษัท เราได้กินพืชพันธุ์อาหารเพียงไม่กี่พันธุ์เพราะบริษัทเป็นเจ้าของพันธุ์เหล่านั้น ซึ่งไม่ได้พัฒนามาเพื่อคนกิน แต่เพื่อยึดครองตลาดเป็นหลัก”

seed

ทำไมต้องเก็บเมล็ดพันธุ์

การผูกขาดของเมล็ดพันธุ์โดยภาคอุตสาหกรรม ทำให้เราจำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ทั้งที่เมล็ดพืชคือของขวัญจากธรรมชาติที่เราทุกคนควรมีสิทธิที่จะปลูกและขยายพันธุ์ ไม่ใช่ถูกจำกัดเป็นเพียงสมบัติของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง การผูกขาดเมล็ดพันธุ์เช่นนี้คือลักษณะที่ปรากฏอยู่ในเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอ ในขณะที่อุตสาหกรรมจีเอ็มโอกำลังสร้างมายาคติว่าพืชจีเอ็มโอ คือทางออกของเกษตรกรรมโลก แต่ที่จริงแล้วคำลวงนี้กลับเป็นสิ่งที่คุกคามและทำลายความมั่นคงและหลากหลายของพืชพรรณอาหารของไทย

ทางออกที่แท้จริง คือ เกษตรกรรมเชิงนิเวศที่เป็นภูมิปัญญาไทยแท้ดั้งเดิมของเราที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของพืชพรรณและการปลูกเพื่อเป็นอาหารไม่ใช่เพื่อป้อนระบบอุตสาหกรรมหลังการเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะทำการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุด เพื่อนำมาเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป วิธีการเช่นนี้เองที่ทำให้ประเทศไทยมีสายพันธุ์พืชชั้นดีจำนวนมาก

วิกฤติที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือ “วิกฤติเมล็ดพันธุ์” เป็นวิกฤติที่คนรู้สึกถึงเรื่องนี้น้อยที่สุด เพราะคนส่วนมากถูกตัดขาดจากอาหารที่เรากิน “เมล็ดพันธุ์สูญหายไปจากโลกทุกวัน และจะไม่กลับมาอีก” แค่ 100 กว่าปีที่ผ่านมา เราสูญเสียพืชพรรณต่าง ๆ ที่เราเคยกินไปถึง 94 เปอร์เซ็นต์ วันนี้เราจึงกินอาหารน้อยชนิดเมื่อเปรียบเทียบกับ 50 ปีที่แล้ว หลายคนเคยกินผักเกือบ 100 ชนิดต่อปี แต่ทุกวันนี้คนส่วนมากกินผักประมาณ 5-6 ชนิดต่อปี บางคนแทบไม่ได้กินผักเลยก็มี

การพัฒนาพันธุ์ในปัจจุบันเป็นการพัฒนาเพื่อผูกขาดอาหารโลก ไม่ได้พัฒนาเพื่อให้คนมีอาหารที่ดีกิน จะเห็นได้ว่าพืชพรรณต่าง ๆ ไม่ได้ถูกพัฒนาให้รสชาติดีขึ้น ทั้งที่ทุกคนอยากกินอาหารอร่อย พวกเขาพัฒนาพันธุ์ให้ได้ผลผลิตสูงในเวลาอันสั้น รสชาติแย่ลง และอ่อนแอ อยู่เองไม่ได้ต้องอาศัยเคมี ฮอร์โมน และการดูแลมากกว่าพืชธรรมดา แถมเมล็ดพันธุ์ยังเอาไปปลูกต่อไม่ได้ต้องซื้อใหม่ทุกครั้งที่จะปลูก บางพันธุ์ถูกทำให้เป็นหมันบ้าง ไม่มีเมล็ดบ้าง และทุกวันนี้ธุรกิจเกษตรเคมีเหล่านี้ได้ใช้เงินมหาศาลผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อการผูกขาดเมล็ดพันธุ์

เมล็ดพันธุ์ มรดกแห่งชีวิต ไม่ควรเป็นลิขสิทธิ์ของอุตสาหกรรม

“การยึดครองอาหารอย่างเดียว คือการยึดครองโลกได้ทั้งโลก” นั่นหมายความว่าข้าวทุกคำที่ป้อนเข้าปาก ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัททั้งหมด การถูกผูกขาดทางเมล็ดพันธุ์และการถูกตัดขาดความเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคและผู้ปลูกนั้นถือเป็นวิกฤตของธรรมชาติ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ คือ การส่งต่อมรดกชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มะม่วงนี้อร่อย เก็บเมล็ดไว้ปลูกต่อให้ลูกหลานกิน นี้คือการส่งต่อมรดกชีวิต เมื่อคนปลูกไม่รู้จักกับคนกิน ความใส่ใจในการปลูกอย่างปลอดภัยก็จะขาดหายไปเช่นกัน ต้องรวมตัวกัน เชื่อมต่อกันให้ได้ระหว่างคนปลูกและคนกิน

และสิ่งสำคัญของการรู้ที่มาของอาหารและกระบวนการตลอดห่วงโซ่การผลิต คือการดูแลสุขภาพของเราเอง เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะดำรงอยู่ได้ต้องพึ่งพาอาหารเป็นปัจจัยสำคัญ

ปัจจุบันนี้ภาครัฐไม่ได้ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศเท่าที่ควร แต่กลับสนับสนุนการใช้สารเคมี ดังเช่นกรณีที่ปุ๋ยเคมีไม่ต้องจ่ายภาษี มีการตัดป่ามากขึ้นเพื่อทำพื้นที่ทางการเกษตร แต่เกษตรกรที่เพาะปลูกเชิงนิเวศไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ทางออกที่เป็นความหวังของประเทศไทยที่แท้จริง คือ พันธุ์พืชอันหลากหลายของเรา ความอุดมสมบูณ์ของพืชพันธุ์คือเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของไทย

เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

การเก็บเมล็ดพันธุ์ คือการเก็บเอาเมล็ดพันธุ์แท้จากดอกหรือผลของพืชชนิดนั้นๆ มาเก็บไว้เพื่อเพาะพันธุ์ต่อในฤดูกาลต่อๆ ไป จะรู้ได้ไงว่าพันธุ์ไหนแท้ไม่แท้ก็ต้องมีการปลูกเพื่อทดลองและทำการจดบันทึกเพื่อจะได้รู้ว่าตอนนี้ปลูกปึ รุ่นที่เท่าไหร่แล้ว เมล็ดพันธุ์ที่ไม่แท้สามารถทำให้เป็นเมล็ดพันธุ์แท้ได้ แต่ต้องผ่านการปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์ไปเรื่อยๆ ถึง 7 รอบ ถึงจะได้พันธุ์ตามที่ต้องการ

ต่างพันธุ์ ต่างวิธีการ

ตัวอย่าง เมล็ดมะละกอ คือชนิด “เมล็ดแบบเปียกเมือก” เป็นเมล็ดชนิดที่มีเจลเคลือบอยู่ วิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์แบบนี้ ถ้าขย้ำ เมือกออกทีละเมล็ดจะเสียเวลามาก เทคนิคที่ทำให้เก็บได้ง่ายขึ้นคือ เอาเมล็ดไปแช่น้ำไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ แช่ให้เน่าเพื่อให้เจลออกง่ายขึ้น แต่ถ้าเราขูดเมล็ดออกมาทิ้งไว้รอให้แห้ง จะไม่สามารถเก็บไว้นาน ๆ ได้ และทำให้เมล็ดขึ้นราได้ง่าย

หลักการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญ คือ ต้องสะอาด หลังจากแช่น้ำแล้วต้องเอามาล้างให้สะอาด แล้วเอาไปตากให้แห้งในวันแดดดีๆ สัก 3 วัน เมื่อแห้งสนิทแล้วก็ค่อยเอามาใส่ในถุงพลาสติก และใส่ซองกันชื้นเพื่อป้องกันเชื้อรา

ส่วน แตงไร่ เรียกว่า “เมล็ดเปียก” เพราะเมล็ดจะเปียกน้ำที่อยู่ข้างในผล แต่ไม่มีเมือกมาหุ้มไว้เหมือนมะละกอ เมื่อผ่าแล้วจะเห็นเมล็ดได้ทันที

วิธีการเก็บ “เมล็ดเปียก” จะล้างน้ำแล้วตากเลย ไม่ต้องแช่น้ำทิ้งไว้ แต่ถ้าผลมีขนาดเล็กและต้องเก็บเยอะ เช่น พริก สามารถเอาไปใส่เครื่องปั่นแล้วปั่นเบา ๆ ได้เลย กดปั่นแล้วหยุดสลับกันไปเรื่อย ๆ แต่อย่าปั่นแรงเกินไป ปั่นเสร็จแล้วก็เอาไปล้างน้ำ ร่อนน้ำเพื่อกรองเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ออก แล้วก็เอาไปตาก แต่ควรตากในช่วงเวลาที่แดดไม่ร้อนจัด เช่น แดดช่วงเช้าถึงสาย ๆ
หรือแดดบ่ายแก่ ๆ ถึงเย็น หลังจากแห้งแล้วค่อยคัดแยกเมล็ดที่แตกออกอีกรอบ

นอกจากนี้ยังมี “เมล็ดแห้ง” ที่เราสามารถเก็บแห้ง ๆ จากต้นได้เลยโดยไม่ต้องล้างน้ำ เมื่อเก็บมาแล้วต้องร่อนทำความสะอาด เมื่อแน่ใจว่าแห้งดีแล้วค่อยใส่ในถุง แล้วเก็บไว้ในตู้เย็น รอปลูกในฤดูกาลถัดไป

ซึ่งเมล็ดแต่ละอย่างก็มีอายุขัยไม่เท่ากัน เมื่อเก็บไปแล้วก็ต้องเอาออกมาปลูกตามฤดูกาล ทุกวันนี้เมล็ดพันธุ์ในท้องตลาดราคาสูงมากถึงกิโลกรัมละหมื่นบาท คนที่ต้องแบกรับภาระนี้ไม่ใช่ใคร แต่เป็นชาวสวน ชาวไร่ ที่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์เหล่านี้มาปลูก ถ้าหากพวกเขาเรียนรู้ที่จะเก็บด้วยตัวเองได้ก็จะช่วยลดภาระได้มาก ไม่ใช่แค่ได้พันธุ์แท้ แต่ยังได้ผลผลิตที่ดี รสชาติดี และดีกับสุขภาพของคนกินอีกด้วย

“ความหลากหลายทางพันธุกรรมคือ ความมั่นคงของชีวิต แต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกัน บางพันธุ์ทนแล้งเก่ง บางพันธุ์ทนโรคระบาดได้ บางพันธุ์ทนน้ำท่วมได้ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น เรามีอาหารกินเสมอ การกินอาหาร ที่หลากหลาย ทำให้ได้สารอาหารครบถ้วนด้วย สุขภาพจะแข็งแรง”

ทีมา-อาจารย์โจน จันไดย