ปัจจุบันจำนวนของปูนาในบ้านเรานั้น ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการใช้สารเคมีในการฆ่าแมลงเป็นจำนวนมากๆ และทำให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างลงตามแหล่งน้ำต่าง ๆซึ่งมีส่วนทำให้ “ปูนา” ต้องตายไปชนิดแทบสูญพันธุ์ จนต้องมีการนำเข้าปูนาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเสริม ให้เพียงพอต่อการบริโภคของคนไทยที่มีมากถึง 45 ล้านตัวต่อปี การเลี้ยงปูนา จึงเป็นอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับการเลี้ยงปูนา มีหลายวิธี แต่จะขอกล่าวถึงการเลี้ยงปูนาในบ่อปูน ซึ่งเป็นที่นิยมเลี้ยงกัน
การเลี้ยงปูนาในบ่อปูน
การเลี้ยงปูนาในบ่อปูนทำความสะอาดง่าย ตัวปูสะอาด ไม่ต้องนำมาพักในบ่อใสเพื่อให้ปูนาฟอกตะกอนในตัวออกเหมือนกับการเลี้ยงในบ่อดิน ตัวปูมันวาว เนื้อแน่น ไม่ฝ่อ รวมไปถึงปลอดจากสารเคมี ไม่มีพยาธิ ปรสิต และปลิง ทำให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.เตรียมบ่อปูน ขนาด 2×3 เมตร สูง 1 เมตร พื้นด้านในบ่อต้องเรียบ ป้องกันการปีนออกจากบ่อ หากทำบ่อใหม่ให้แช่น้ำ ด่างทับทิมทิ้งไว้ 3 วัน หลังจากนั้นให้ทำความสะอาด และเติมน้ำลงไปประมาณ 10-15 เซนติเมตร วางอิฐบล็อก และใส่ผักตบชวา เพื่อเป็นบ้านที่หลบอาศัย และเป็นแหล่งอาหารให้แก่ปู
2. ปล่อยปูนาประมาณ 100 คู่
3.อาหารของปูนา มีความแตกต่างกันตามอายุ ดังนี้
-อายุ 3 วัน – 1 เดือนครึ่ง ให้เลี้ยงด้วยไข่แดงต้มสุก
-อายุ1 เดือนครึ่ง – จนครบอายุ ที่ต้องการ ให้เลี้ยงด้วยอาหารลูกอ๊อดชนิดเม็ดลอยน้ำ
-พ่อแม่พันธุ์ อายุ 6 เดือน ให้อาหารปลาดุกเม็ดเล็ก หรือจะเสริมด้วยรำข้าว
การให้อาหารปูจะให้อาหารช่วงเย็นทุกวัน โดย 1 ตัว จะกินอาหารประมาณ 4-5 เม็ด เมื่อครบอายุก็เริ่มจับขายได้ หากต้องการให้อาหารเสริมให้พวกผัก แต่ไม่ควรให้ข้าวสุก เพราะเมื่อปูกินเข้าไปจะทำให้ท้องอืดตาย
4.การจับปูขาย ปูมีขนาดอายุที่แตกต่างกันตามความต้องการในการบริโภค ดังนี้
-อายุ 2–2 เดือนครึ่ง ขายเป็นปูจ๋า สำหรับทอด
-อายุ 3 เดือน ขายเป็นปูสด หรือปูดองสำเร็จรูป
-อายุ 4-5 เดือน ขายเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป หรือขายเป็นปูกิโล
-อายุ 6 เดือน ขายก้ามปู มันปู เนื้อปู หรือพ่อแม่พันธุ์
– 7-8 เดือน ขายปูนิ่ม หรืออื่นๆ ตามต้องการ
5.การเพาะขยายพันธุ์ อายุของพ่อแม่พันธุ์ สามารถผสมได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนซึ่งเป็นช่วงที่มีความเหมาะสม อายุปูเฉลี่ยประมาณ 2 ปีกว่า สามารถขยายพันธุ์ได้ประมาณ 4-6 ครั้ง การผสมพันธุ์ปูนานอกฤดู มีขั้นตอนดังนี้
5.1 ค่อยๆ ปล่อยน้ำออกจากบ่อปูนจนแห้ง งดให้อาหาร ตัวปูจะเริ่มแห้งและหาที่จำศีล โดยการเข้าไปอยู่ในรูอิฐบล็อก เป็นการจำลองสภาพอากาศในช่วงฤดูร้อน ช่วงนี้ปูจะมีหลากหลายสี เช่น ม่วง ส้ม ชมพู เหลือง เทา ฟ้า แดง ดำ ปูจะจำศีลอยู่ในอิฐบล็อกประมาณ 1-2 สัปดาห์
5.2 หลังจากนั้นค่อย ๆ เติมน้ำลงในบ่อ ทำให้อุณหภูมิเย็นขึ้น นำสแลนมาคลุม นำแผ่นสังกะสีมาปิดทับปากบ่อ และฉีดน้ำเบาๆ เป็นฝอยๆ เป็นการจำลองสภาพอากาศในช่วงฤดูฝน ปริมาณน้ำในบ่อจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ปูจะเริ่มออกมาจากอิฐบล็อกเพื่อผสมพันธุ์ เมื่อปูเริ่มเจอน้ำจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีแดงอมม่วง
5.3 ปูจะเริ่มจับคู่กัน และแยกรูอยู่กันเป็นคู่ๆ โดยตัวเมียจะอยู่ในรู ตัวผู้อยู่ปากรู ตัวเมียจะเริ่มมีการฟอร์มไข่ที่กระดอง และเมื่อไข่สมบูรณ์เต็มที่จะคายไข่มาไว้ที่หน้าท้อง หรือจับปิ้ง ไข่จะมีสีเหลืองอ่อน แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแก่ และเป็นตัวอ่อน โดยใช้เวลาตั้งแต่ผสมพันธุ์จนออกลูกประมาณ 40-45 วัน แม่ปูที่ไข่ หน้าท้องจะขยายออก ปล่อยให้แม่พันธุ์อยู่ในรูอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ จากนั้นย้ายแม่ปูออกมาเลี้ยงจนแม่ปูสลัดลูกออก ให้เลี้ยงแม่ปูและลูกปูในบ่อเดียวกันอีกประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจึงจับแม่ปูแยกออกจากบ่อ แม่ปูหนึ่งตัว จะมีลูกประมาณ 300–500 ตัว แต่จะรอดประมาณ 300-400 ตัว
6.การแปรรูป ปูนาตามธรรมชาติในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม เป็นช่วงที่หายาก มีราคาสูงมาก แต่ช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคม จะมีจำนวนมาก ซึ่งราคาก็จะลดลง การนำปูนามาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ก็ถือเป็นรายได้ที่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น น้ำาพริกเผาปูนา น้ำพริกมันปู กะปิมันปู น้ำพริกผัดปูนา น้ำพริกนรกปูนา ปูดอง ปูเขย่า ก้ามปู เนื้อปู และสินค้าแปรรูปต่างๆ อีกมากมาย
7.ปัญหาการเลี้ยงปูนา
–น้ำ หากน้ำเย็นเกินไปจะทำให้ปูแขนขาหลุดและน็อคตาย หรือน้ำไม่สะอาดจะทำให้ปูไม่สามารถฟอกอากาศได้และตายในที่สุด
–อากาศ ปูน าจ ะไวต่อ สภาพอ าก าศโดยเฉพาะในช่วง 3-5 วันแรกที่ปล่อยปูนาลงในบ่อเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทันที ทำให้ปูตายค่อนข้างมาก
ความแออัด อาหารไม่เพียงพอ ทำให้ปูต่อสู้กัน หรืออาจสลัดขาจากการหนีคู่ต่อสู้ เพื่อให้วิ่งหนีได้เร็วและตามธรรมชาติปูจะสามารถสร้างขาขึ้นมาใหม่ได้เมื่อมีการลอกคราบ แต่หากแขนขาหลุดหรือสลัดแขนขามากเกินไป ปูก็จะตายในที่สุด
8.วิธีแยกเพศปูนา