ผศ.ดร.สมจิตร์ กันธาพรม หรือ ดร.ต๋อง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ และดำรงตำแหน่งรองนายกสมาคมอนุรักษ์พัฒนาควายไทย ใช้เวลานอกราชการเพื่อเลี้ยงควายซึ่งมีรายได้สูงกว่างานประจำ เล่าว่า เมื่อย้อนกลับไปประมาณ 10 ปีก่อน มีควายมากกว่า 20 ล้านตัว แต่ในปัจจุบันมีควายเหลืออยู่เพียง 1 ล้านตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการนำเครื่องจักรกลเข้ามาใช้ในการทำงานแทนควาย ชาวนาจึงขายควาย ทำให้วิถีการเลี้ยงควายตั้งแต่ในอดีตค่อย ๆ หายไป ซึ่งควายไทยนั้น ถือว่าเป็นควายปลักที่ดีที่สุดในโลก มีการพัฒนาสายพันธุ์โดยคนไทย เป็นควายเนื้อที่ดีที่สุด เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ ยังมีการซื้อขายกันถึงตัวละหลายล้านบาท
สายพันธุ์ควาย
ควายแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ
1.ควายป่าหรือมหิงสา มีขนสีเทาหรือน้ำตาลดำ สายตาไม่ดี แต่มีจมูกที่ไวต่อประสาทสัมผัส มีความทรหด อดทน ปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก พบเฉพาะบริเวณพื้นที่ตอนใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวนไม่ถึง 70 ตัวเท่านั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับควายบ้าน แตกต่างกันเพียงที่มีขนาดใหญ่กว่า และมีความดุร้ายมากกว่า
2.ควายบ้าน มี2 ชนิด คือ
–ควายปลัก (Swamp buffalo) กระจายพันธุ์ในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม นิยมเลี้ยงไว้เพื่อใช้แรงงานในไร่นา ใช้บรรทุกสิ่งของและลากจูง เมื่อมีอายุมากขึ้น จะส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์ เพื่อเป็นอาหาร ควายชนิดนี้จะชอบแช่ปลัก ชอบลงน้ำเมื่อมีอากาศร้อน มีรูปร่างล่ำสัน ลำตัวหนาลึก ท้องใหญ่ หัวยาวและแคบ เขาแบนโค้งไปข้างหน้า หน้าสั้น หน้าผากแบนราบ ตานูนเด่นชัด ช่วงระหว่างรูจมูกทั้ง 2 ข้างกว้าง คอยาว บริเวณใต้คอมีบั้งคอซึ่งมีขนขาวเป็นรูปตัววี หัวไหล่และอกนูนเต็ม ผิวมีสีเทาเข้มเกือบดำ ที่เป็นสีขาวเผือกมีบ้าง พบได้ทั่วไป
–ควายแม่น้ำ (River buffalo) กระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ อิตาลี เป็นควายที่ให้น้ำนมมาก มีลักษณะเป็นควายนม เลี้ยงไว้เพื่อรีดนม ควายแม่น้ำมีหลายสายพันธุ์ มีขนาดใหญ่ รูปร่างแข็งแรง ผิวหนังสีดำ หัวสั้น หน้าผากนูน เขาสั้นและบิดม้วนงอ
ควายสร้างคุณค่าพัฒนามนุษย์
ควายที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยส่วนใหญ่เป็นควายปลัก เมื่อย้อนกลับไปประมาณ 50 ปีที่แล้ว บ้านทุกหลังมักเลี้ยงควายโดยที่ภรรยาและลูกมีหน้าที่เลี้ยงควายอยู่บ้าน ส่วนสามีออกไปทำงาน เป็นวิถีการสร้างความรัก ความผูกพัน ความสามัคคี เด็กที่โตมาพร้อมกับการเลี้ยงควายจะถูกฝึกความมีวินัย มีจิตเมตตาต่อสัตว์ มีความรับผิดชอบ มีการวางแผน ซึ่งดร.ต๋อง ได้รับการปลูกฝังให้เป็นเจ้าของธุรกิจเล็ก ๆ ในการเลี้ยงควาย ขายควายส่งตัวเองเรียนจนประสบความสำเร็จ และพบว่าเด็กที่เติบโตมากับวิถีการเลี้ยงควาย มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานทั้งสิ้น
ควายมีส่วนช่วยในการปรับปรุงคุณภาพของดินและน้ำได้ โดยที่มูลควายช่วยทำให้ดินชุ่มชื้น ช่วยอุ้มน้ำ เป็นปุ๋ยให้พืชผัก สร้างเศรษฐกิจในชุมชน และช่วยคนทำงาน
จึงควรค่าแก่การรักษาควาย ด้วยการคืนวิถีการเลี้ยงควายที่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานสู่ผืนดินไทยอีกครั้ง
“ถ้าอยากมีชีวิตดีให้เลี้ยงพ่อ เลี้ยงแม่ ถ้าอยากมีเงินมีทองให้เลี้ยงควาย”
ทำไมเนื้อควายจึงมีราคาแพง
ในต่างประเทศไม่สามารถเลี้ยงควายได้ ยกเว้นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเวียดนาม พม่า และลาว นั้น ไม่สามารถเลี้ยงควายแบบไทยได้เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง ประเทศไทยโชคดีที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำ มีภูมิประเทศที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงควายส่งออก ควายที่ออกจากประเทศไทยตัวละประมาณ 5 หมื่น และเมื่อไปถึงปลายทางที่เวียดนามมีมูลค่าสูงถึงตัวละ 5 แสนบาท
นอกจากการเลี้ยงควายขายเพื่อการบริโภคเนื้อแล้ว ยังสามารถขายมูลควาย ฝึกควายทำนาเทียมเกวียน(ภูมิปัญญาสร้างมูลค่า) ขายพันธุ์หรือน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ควายชั้นดี เพื่อนำไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อ ซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงแต่ไม่ต้องการส่งไปโรงเชือด
การพัฒนาสายพันธุ์ควาย
การพัฒนาสายพันธุ์ สำหรับผู้ที่ต้องการขายควายเงินล้าน มีหลักการง่าย ๆ โดยการผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งในประเทศอินเดียมีการจัดประกวดควายและซื้อควาย ตัวที่ชนะประกวดมีการประมูลราคาสูงถึง ตัวละ 1 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 30 ล้านบาท
เทคนิคการคัดแม่พันธุ์
1.คัดเลือกแม่พันธุ์ที่ท้องใหญ่ ๆ เหมือนบาตรพระ เพราะจะให้ลูกดี ลูกสวย
2.ควายจะต้องมี 4 เต้า เต้าข้างหลังใหญ่กว่าข้างหน้า นมมีขนาดใหญ่
3. ขาต้องใหญ่ เวลายืนจะเชิดเหมือนเป็ด
ทั้งหมดนี้เป็นภูมิปัญญาในการดูควายที่จะให้ลูกในราคาหลักแสนหลักล้าน จากนั้นจึงนำพ่อพันธุ์ดี พันธุ์ใหญ่ พันธุ์ชนะประกวดมาผสม ลูกที่ได้จะมีมูลค่าสูง ขายได้ไม่ต่ำกว่า 6 หลัก
ควายสร้างมูลค่า
จากการทดลองการเลี้ยงวัวและควายโดยการให้หญ้ากินเพียงอย่างเดียว พบว่า วัวจะทรงตัวและผอม ส่วนควายจะทรงตัวและอ้วนขึ้น เมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุพบว่า กระเพาะควายมีจุลินทรีย์ในการย่อยสลายหญ้าให้เป็นเนื้อถึง 3 เท่า แสดงให้เห็นว่า ควายกินหญ้าเพียงอย่างเดียวก็สามารถทำให้อ้วนได้ หญ้าจึงเป็นต้นทุนการเลี้ยงที่มีมูลค่าต่ำมาก ทำให้การเลี้ยงควายได้กำไรสูง
ยกตัวอย่างการขายควาย หากขายในราคา 100 บาท ต้นทุนค่าอาหารประมาณ 10 บาท ต้นทุนอื่น ๆ 10 บาท ที่เหลืออีก 80 บาท คือกำไรจากการเลี้ยงควาย สิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเลี้ยงควายแล้วรวย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ตลาดควายในปัจจุบันเหลือค่อนข้างน้อย ดังนั้น ผู้ที่กำหนดราคาขายจึงเป็นผู้เลี้ยง ปัจจุบันยังไม่มีราคากลางในการซื้อขายควายว่าตัวละเท่าไร กิโลกรัมละเท่าไร
การเริ่มต้นเลี้ยงควาย
1.เริ่มต้นจากการไปอยู่กับคนเลี้ยงควายอย่างน้อย 1 อาทิตย์ จะทำให้รู้ว่าการเลี้ยงควายแบบวิถีดั่งเดิมเป็นอย่างไร การเลี้ยงควายถือเป็นวิถีของคนไทยอยู่แล้ว แต่เราอาจจะลืมไป รวมไปถึงภูมิปัญญาต่าง ๆ เรียนรู้จากปราชญ์คนเฒ่าคนแก่ที่เขาเลี้ยงควาย ไปเรียนรู้วิชาจากเขา
2.ซื้อควายเพศเมีย 2 ตัว และเลี้ยงใหม่ครบ 1 ปีก่อน อย่าพึ่งรีบร้อน ควายจะสอนให้รู้จักกระบวนการเลี้ยงควายทั้งหมด เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 จะก้าวกระโดดได้อย่างรวดเร็ว
3.หลังจากได้ลูกออกมาแล้ว ให้พัฒนาพันธุ์อย่าซื้อควายที่มีราคาแพงเกินจริง อย่าเป็นเหยื่อทางธุรกิจ การทำการเกษตรทุกชนิดจะต้องเป็นตัวของตัวเอง หากเปรียบกับต้นไม้แล้ว ต้องมีรากแก้วเพียงรากเดียว คนก็ต้องเก่งอย่างใดอย่างหนึ่งให้สุด แล้วค่อยแตกเป็นแขนงเป็นรากฝอย เราไม่สามารถทำหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกันบนความไม่เชี่ยวชาญ เมื่อศึกษาจนเกิดเชี่ยวชาญแล้ว เลี้ยงควายครบ 1 ปี แล้ว เมื่อออกลูกแล้ว ดูแลทุกอย่างได้แล้วจึงค่อยขยายจาก 2 เป็น 4 ตัว อยากให้ทำอย่างนั้นด้วยเงินหมื่น “ให้เป็นเหมือนลูกมะพร้าวที่ค่อย ๆ โต ไม่ใช่ลูกโป่งที่ใส่น้ำเข้าไปเพื่อให้โต
และเนื่องจากควายไทยและผู้เลี้ยงควายมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งควายไทยยังคงเป็นสัตว์ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือส่งเสริมในการสร้างอาชีพ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์ควายไทย