การปลูก”หมามุ่ย”.. อีกทางเลือกหนึ่ง ในการเพิ่มมูลค่าในสวนยาง

surin2 1

ชื่อวิทยาศาสตร์: Mucuna pruriens  (L.) DC.  ชื่อพ้อง M. prurita  Hook.f. 

วงศ์ : Leguminosae – Papilionaceae 

ชื่อสามัญ : Cowitch ,  Cowhage 

ชื่ออื่น : บะเหยือง หมาเหยือง (ภาคเหนือ) โพล่ยู (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) กลออื้อแซ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เลื้อย ใบ ประกอบ คล้ายใบถั่วฝักยาว คือมี 3 ใบย่อย ใบย่อยรูปไข่ปลาย    
                                   แหลม มีขนทั่วไป ดอก ช่อ ดอกย่อย แบบดอกถั่ว สีม่วงแก่ ออกตามง่ามใบแถว      
                                   ปลายยอด ฝักแก่จัดสีเหลืองทองถึงเหลืองแก่ มีขนค่อนข้างยาว ถ้าสัมผัสจะคัน 
                                   ฝักแก่จัดขนจะร่วงปลิวไป 

หมามุ่ยมีหลายชนิด : ชนิดที่ 1  ฝักจะไม่ยาวมาก ประมาณ 5-7 เซนติเมตร ฝักตรง 
                          

ชนิดที่ 2  ฝักจะยาวกว่าชนิดแรกเล็กน้อย แต่ปลายฝักจะงอนออก ยาว 5-8 เซนติเมตร
                          

ชนิดที่ 3  เป็นหมามุ่ยใหญ่ (หมามุ่ยช้าง, สะบ้าลิง) ฝักรูปทรงกระบอกค่อนข้างแบน ผิว 
                                       ผลย่นๆ เป็นสันและยาวกว่า 2 ชนิดแรก ยาว 10-12 เซนติเมตร ขนสีน้ำตาล
                                       แดง 

ส่วนที่เป็นพิษ :  ขนจากฝัก 

สารพิษและสารเคมี : ขนมี mucunain enzyme สามารถย่อยโปรตีนได้ ในขนมี serotonin เป็นสารกระตุ้น 
                          ให้ร่างกายคนหลั่ง histamine ก่อให้เกิดการแพ้ผื่นคัน บวมแดง 

อาการเกิดพิษ :  ผิวหนังเมื่อถูกขนหมามุ่ย จะคัน ระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อน บวมแดง 

การรักษา :  ให้พยายามเอาขนออกให้หมด โดยใช้เทียนไขลนไฟ ให้นุ่ม หรือข้าวเหนียวที่นึ่งแล้ว คลึง   
               จนกระทั่งขนหลุดหมด แต่ถ้าไม่มีของพวกนี้ อาจใช้ถูไปมาบนผม ถ้าเป็นผมสั้นๆ จะได้ผลดี เมื่อ
               คลึงเอาขนหลุดหมดแล้ว ถ้ายังคันให้ทายาคาลาไมน์หรือครีมที่มีสเตียรอยด์ เช่น ครีมพวกเพนนิ
               โซโลน และรับประทานยาแก้แพ้ทุก 6 ชั่วโมง 

สรรพคุณ : แพทย์แผนโบราณ ได้นำส่วนต่างๆของหมามุ้ย มาทำเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน โดยนำมาใช้ประโยชน์
              ตั้งแต่ ราก ใบ ฝัก เม็ด เช่น ใช้รากแก้คัน ใช้ถอนพิษ ล้างพิษ เม็ดใช้ทั้งกิน เม็ดคั่ว นึ่ง และบด เป็น
              ผง เพื่อบำรุงกำลัง เพิ่มน้ำเชื้อ เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ 

เมื่อได้ยินคำว่า “หมามุ่ย” เชื่อว่าทุกคนคงขยาด เนื่องจากสรรพคุณของหมามุ่ยนั้นทุกคนคงรู้ดีว่าเป็นอย่างไร แต่ใครจะเชื่อว่าหมามุ่ยได้สร้างรายได้ให้กับนายเที่ยง สิงจานุสงค์ ชาวสวนยางบ้านหนองอีเลิง ต.กระออม อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ ในแต่ละปีเป็นเงินไม่ต่ำกว่าหลักหมื่น ลองมาฟังประสบการณ์การปลูกหมามุ่ยเล่นๆ แต่รายได้ไม่เล่นของนายเที่ยง สิงจานุสงค์กัน

surin2 2

สำหรับนายเที่ยง สิงจานุสงค์ อดีตครูชำนาญการพิเศษ ที่หันมาประกอบอาชีพเกษตร โดยพืชหลักๆ ที่ทำคือยางพารา จึงเรียกติดปากกันว่า อาจารย์เที่ยง เริ่มแรก อาจารย์เที่ยง สิงจานุสงค์ ได้ปลูกกล้วยหอมแซมในสวนยางพารา 6 ไร่ ซึ่งกล้วยหอมที่ปลูกเป็นกล้วยหอมเขียวเมื่อนำไปขายแล้วมักจะได้ราคาไม่ดีเท่าไหร่ ประกอบกับได้มีญาติแนะนำให้ปลูกหมามุ่ยและได้ไปดูสวนที่มีการปลูกหมามุ่ย เลยลองเอาเมล็ดหมามุ่ยจากญาติมาปลูกริมรั้วรอบสวนยาง การปลูกก็เหมือนการปลูกถั่วทั่วไปคือปลูกแบบหยอดเป็นหลุม หลุมละ 2-3 เมล็ด ไม่มีระยะปลูกที่แน่นอน ปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติเลื้อยพันรั้วรอบสวนยางโดยไม่มีการรดน้ำ ใส่ปุ๋ยใดๆ ทั้งสิ้น

อาจารย์เที่ยง บอกว่าสิ่งที่ควรระวังที่สุดคือ อย่าให้หมามุ่ยเลื้อยพันต้นยางเด็ดขาด เมื่อเห็นว่าหมามุ่ยเริ่มจะเลื้อยขึ้นต้นยางก็ต้องรีบเอาออก และพูดติดตลกอีกว่าปลูกแรกๆ ชาวบ้านที่มีสวนยางอยู่ใกล้นึกว่าปลูกไว้กันขโมยหรือไม่ให้คนเข้าสวน แต่พอเห็นว่าปลูกแล้วได้ราคาดีก็อยากจะปลูกบ้างแต่มีปัญหาเรื่องการเก็บเกี่ยว สำหรับการเก็บเกี่ยวนั้นจะเก็บเกี่ยวเมื่อฝักแก่จัดซึ่งจะมีสีเหลืองทองถึงเหลืองแก่ มีขนค่อนข้างยาว ซึ่งต้องระวังอย่าให้โดนฝักหรือขนของหมามุ่ยเพราะจะทำให้คัน

อาจารย์เที่ยงแนะนำว่าเมื่อโดนขนของหมามุ่ยรีบนำทรายมาถูเอาขนหมามุ่ยออกซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน สำหรับการเก็บนั้นจะเก็บช่วงเวลา 04.00-05.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศนิ่งขนของหมามุ่ยไม่ฟุ้งกระจายง่ายต่อการเก็บ และจะต้องใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว พูดง่ายๆ คือ ใส่ชุดที่ป้องกันไม่ให้ขนของหมามุ่ยโดนผิวหนัง เมื่อเก็บเรียบร้อยแล้ว นำมาตากให้แห้ง(อาจารย์เที่ยงไม่ได้บอกว่าตากกี่วัน ให้มองด้วยสายตา) เมื่อแห้งแล้วนำมาสลัดเอาขนออกโดยใส่หมามุ่ยในผ้าที่มีรูแล้วเขย่าให้ขนออกจากเปลือก แล้วนำมาปอกเปลือกเอาเมล็ดเก็บไว้ขาย

ปีแรกที่ปลูกได้เมล็ดประมาณ 20 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 500 บาท คิดเป็นเงิน 10,000 บาท ปีที่ 2 ของการปลูกหมามุ่ย อ.เที่ยง ได้ปลูกโดยการทำค้าง ซึ่งการทำค้างนั้นง่ายต่อการจัดการรวมทั้งการเก็บเกี่ยว ปริมาณผลผลิตที่ได้ประมาณ 70 กิโลกรัม (ซึ่งปกติจะได้ประมาณ 100 กิโลกรัม เนื่องจากโดนน้ำท่วมผลผลิตจึงไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้) และการขายนั้นก็ไม่ยุ่งยากต้องหาตลาดให้วุ่นวาย เนื่องจากมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงบ้านทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วยเนื่องจากการปลูกยังไม่แพร่หลาย อาจารย์เที่ยงยังบอกทิ้งท้ายอีกว่าการปลูกหมามุ่ยไม่ใช่เรื่องยากแค่เข้าใจธรรมชาติของเค้า แล้วเขาก็จะให้ผลผลิตที่คุ้มค่ากับเรา

surin2 3

จากข้อมูลข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เราจะเห็นว่าหมามุ่ยไม่เพียงจะมีแค่โทษที่ทำให้เกิดอาการคันเมื่อไปสัมผัสแต่ในทางกลับกันหมามุ่ยเป็นพืชที่มีสรรพคุณมากมาย พร้อมทั้งยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกอีกด้วย นับว่าหมามุ่ยเป็นพืชอีกชนิดที่น่าสนใจเมื่อนำมาปลูกในสวนยางจะเป็นการเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรไม่น้อย

ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการปลูกหมามุ่ยเสริมรายได้ในสวนยางสามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ อาจารย์เที่ยง สิงจานุสงค์ ที่อยู่ 16 หมู่ 7 ตำบลกระออม อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ โทรศัพท์ 0819670497 หรือสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดสุรินทร์