“เกาลัดไทย” เป็นได้ทั้งไม้ผลและไม้ประดับไปในตัว

“เกาลัดไทย” เป็นไม้ยืนต้น ที่จัดว่าเป็นได้ทั้งไม้ผลและไม้ประดับไปในตัว เพราะนอกจากคนทั่วไปจะปลูกเพื่อนำผลเกาลัดมาคั่วรับประทานเป็นอาหารประเภทธัญพืชแล้ว บรรดานักสะสมพรรณไม้ยังนิยมสะสมไว้เป็นไม้มงคลและไม้ประดับสวนหน้าบ้าน เพราะมีผลที่มีสีสันแสดส้มสวยงาม ใบหนา ใหญ่ สีเขียววาววับ และยังให้ดอกสีชมพูงามตา

696382279

แม้จะได้ชื่อว่าต้นเกาลัดไทยแต่แท้จริงแล้วกลับมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน และยังพบในประเทศเอเชียตะวันตก เช่นอินเดียและบังคลาเทศ เรื่อยไปถึงไต้หวัน ญี่ปุ่น และไทยเรา โดยในบ้านเรานิยมปลูกในแถบภาคเหนือและภาคกลาง นอกจากนำผลมารับประทานโดยการต้มให้สุกแทนการคั่วแบบเกาลัดจีนแล้ว และการนำต้นมาปลูกเป็นไม้ประดับแล้ว ยังสามารถนำลำต้นมาตัดเอาเนื้อไม้เพื่อผลิตเป็นเครื่องเรือนและนำเรซินในเนื้อไม้ไปใช้ในประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมอีกด้วย

44318125 1124836497692063 6426253686023913472 n

ต้นเกาลัดไทยนั้น จะมีความสูงตั้งแต่ 4-30 เมตร แตกพุ่มไม่หนามาก ลำต้นปกคลุมด้วยเปลือกเรียบแต่มีร่องบ้างในบางต้น กิ่งก้านจะเรียบเนียน แตกใบเดี่ยวบริเวณปลายกิ่ง ใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเรียบ โคนใบกลม ปลาบใบเล็กลงกว่าโคน ใบสีเขียว ผิวเรียบ มัน แตกดอกตรงปลายกิ่ง ย้อยเป็นแขนง สีชมพูเรื่อ มีกลิ่นหอมจาง ๆให้ผลกลม สีแสดปนแดงเป็นกระจุก กระจุกละ 2 ผล มีเปลือกภายนอกที่แข็ง ด้านในมีเมล็ดสีน้ำตาลตรงกลางผลละ 1-2 เมล็ด โดยจะออกผลในช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือราวๆ เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

สำหรับเกษตรกรที่ต้องการทดลองปลูกต้นเกาลัดไทยนั้น ควรต้องเข้าใจก่อนว่าไม้ชนิดนี้ ชอบดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุเยอะ เนื้อดินลึกและโปร่งเพื่อระบายน้ำและอากาศได้ดี แม้จะเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมากในช่วงพักต้น แต่หากว่าเริ่มติดผล เราต้องหมั่นให้น้ำทุกวันเพื่อบำรุง วิธีการปลูกขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตหลังจากปลูกราว 4-5 ปี แต่หากปลูกด้วยกิ่งตอนใช้เวลาเพียง 2-3 ปีก็ได้ผลผลิตปีละ 2 รุ่นกันแล้ว ให้ดีก็ต้องมีการเติมปุ๋ยเสริมรากและเสียบรากบนต้นตอที่สมบูรณ์ให้รากแข็งแรงขึ้น จะได้ผลผลิตเร็วขึ้นมาก

สำหรับการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดนั้นมีโอกาสกลายพันธุ์และต้องใช้เวลารอผลผลิตยาวกว่าการตอนกิ่ง แต่สำหรับมือใหม่กับว่าง่ายที่สุด โดยเราจะเลือกเมล็ดเกาลัดที่ร่วงจากต้นที่มีสภาพแก่จัด นำไปเพาะได้ในกระถางได้เลย โดยช่วงปีแรกจะเติบโตไวมาก เพราะเมล็ดเกาลัดยังสะสมสารอาหารและจุลินทรีย์บางชนิดได้อยู่ แต่เมื่อสารอาหารที่สะสมไว้หมดไป จะชะลอการเติบโตจึงต้องเติมอินทรียวัตถุ ปุ๋ยหมัก จุลินทรีย์และเปลือกถั่วลิสงเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตต่อไป