ตะคร้อ เป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่สามารถพบได้ในทุกที่ของบ้านเรา และยังพบได้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินเดีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงแถวคาบสมุทรอินโดจีนด้วย เพราะต้นตะคร้อเป็นต้นไม้ที่สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนชื้นได้เป็นอย่างดี ความพิเศษของตะคร้อนั้น คือสามารถออกผลได้แค่เพียงปีล่ะหนึ่งครั้งเท่านั้น จึงเป็นผลไม้ที่หารับประทานได้ยากมาก และหลายๆ คนก็คงจะยังไม่รู้จัก แต่บอกเลยว่า นอกจากจะสามารถบริโภคผลสดที่สุกได้แล้ว ยังนำผลดิบไปแปรรูปเป็นผลไม้ดอง และใช้ปรุงรสอาหารแทนมะนาวได้อีกด้วย นิยมนำไปประกอบอาหารประเภทยำต่างๆ
นอกจากนำผลมารับประทานได้แล้ว เพื่อนๆ เกษตรกร บางกลุ่มยังมักจะใช้ต้นตะคร้อเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงครั่ง เพราะต้นตะคร้อมีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นที่ไม่สูงเกินไป และมีใบปกคลุมหนาแน่น จึงเหมาะที่จะใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ครั่ง
นอกจากนี้แล้ว ตะคร้อ ยังสามารถนำไม้ไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องเรือนต่างๆ ภายในบ้านได้อีกด้วย สามารถปลูกไว้ในครัวเรือนเพื่อให้ร่มเงาคลายร้อน ด้วยประโยชน์ที่หลากหลายจึงไม่น่าแปลกใจที่เพื่อนๆเกษตรกรบางรายนิยมปลูกตะคร้อเอาไว้ในครัวเรือน อีกทั้งยังสามารถขายผลผลิตของผลตะคร้อได้อีกด้วย
ตะคร้อเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีกิ่งแตกแขนงรอบลำต้น มีใบเรียวคล้ายขนนกสลับกันทั้งสองฟาก กิ่งใบมีสีเขียวอ่อนไปจนถึงเข้ม ขอบใบหยักเหมือนเกลียวคลื่น ใบปกคลุมแน่นทำให้ต้น ตะคร้อ มีลักษณะเป็นทรงพุ่มหนา ให้ดอกเป็นพวงช่อ ดอกออกสลับเป็นช่อระหว่างใบ มีสีขาวไปจนถึงเหลือง ให้ผลสีเขียวอมน้ำตาลผลมีลักษณะกลมปลายผลแหลม มีขนาดเพียง 2-3 เซนติเมตรเท่านั้น ออกผลดกในช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม ตะคร้อเป็นต้นไม้ที่ชอบขึ้นได้ป่าเบญจพรรณและป่าริมเขา
การปลูกตะคร้อ สามารถทำได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดเช่นเดียวกับพืชอื่นๆ โดยต้นตะคร้อจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่สามารถระบายน้ำได้ดิน คือ ดินร่วน ดินร่วนป่นทราย นำดินดังกล่าวใส่ในถุงเพาะชำที่เตรียมไว้พร้อมปุ๋ยคอกเล็กน้อยคลุกเคล้าให้เข้ากัน ก่อนนำดินมาปลูกก็อย่าลืมกำจัดวัชพืชด้วยการนำดินตากแดดไว้และพรวนดินกำจัดวัชพืชให้หมดไปจากดิน จากนั้นนำเมล็ดตะคร้อใส่ลงไปและกลบให้เรียบร้อย วางไว้ในที่ร่มไม่โดนแดด หมั่นรดน้ำเป็นประจำทุกวัน ใช้เวลาเพาะกล้าประมาณ 6 เดือนก็สามารถย้ายไปปลูกลงในแปลงได้เลยครับ ใช้เวลาประมาณ 2-3ปีก็จะเริ่มติดลูกออกผล รอจนผลเปลี่ยนสีเปลือกผลเป็นสีออกน้ำตาลก็สามารถเก็บเกี่ยว โดยใช้กรรไกรคมๆ ตัดตรงขั้วด้วยความระมัดระวัง