นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามปกติมะม่วงจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดให้ผู้บริโภคได้รับประทานกันในช่วงฤดูร้อนหรือประมาณเดือนเมษายน แต่ก่อนที่จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และอร่อยถูกปากเป็นที่ต้องการของตลาดนั้น เกษตรกรจะต้องคอยดูแลตลอดกระบวนการตั้งแต่เริ่มเพาะปลูก ออกดอก ติดผล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชไม่ให้มาทำลายผลผลิตได้ โดยประเทศไทยสามารถเพาะปลูกมะม่วงได้ทุกภูมิภาคซึ่งจะให้ผลผลิตแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
“สำหรับช่วงข้ามปีคือ ระหว่างเดือนธันวาคม – มกราคม เป็นช่วงที่มะม่วงออกดอกและทยอยติดผลเล็กแล้ว เริ่มจากสวนมะม่วงในพื้นที่ภาคกลาง ตามด้วยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงจึงควรเริ่มสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับมือกับโรคและแมลงศัตรูมะม่วง โดยเฉพาะโรคจุดดำ หรือโรคแอนแทรคโนส ซึ่งเป็นโรคสำคัญที่ทำให้ผลมะม่วงเสียหาย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและรายได้จากผลผลิต “ทั้งนี้ โรคแอนแทรคโนส เป็นเชื้อราสาเหตุโรคที่สามารถเข้าทำลายพืชได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต โดยมีลักษณะอาการของโรค ที่เกษตรกรจะต้องหมั่นสังเกต คือ ใบอ่อนพบจุดฉ่ำน้ำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาลดำ หากอาการรุนแรงแผลจะขยายตัวอย่างรวดเร็วติดต่อกันทั้งผืนใบ ทำให้ใบบิดเบี้ยว เสียรูปทรง ยอดอ่อนเหี่ยวและดำ ส่วนใบแก่พบแผลรูปร่างค่อนข้างเหลี่ยม หากอาการรุนแรงแผลจะทะลุเป็นรู ช่อดอกพบจุดหรือขีดสีน้ำตาลแดงเล็ก ๆ บนก้านช่อดอก ต่อมาแผลจะขยายใหญ่ขึ้น หากมีความชื้นสูงจะพบเมือกสีส้ม ซึ่งเป็นกลุ่มสปอร์ของเชื้อราอยู่ที่บริเวณแผล ทำให้ช่อดอกเหี่ยวแห้ง ดอกหลุดร่วงก่อนติดผล ผลอ่อนพบจุดแผลสีน้ำตาลดำ ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมผลที่ถูกทำลายจะเป็นสีดำและหลุดร่วงก่อนกำหนด ในบางครั้งเชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายแบบแฝงในผลอ่อน โดยไม่แสดงอาการ แต่จะแสดงอาการของโรคเมื่อผลสุก และอาการรุนแรงมากขึ้นตามความสุกของผล ผลแก่ หรือผลสุกหลังเก็บเกี่ยวพบจุดแผลสีดำเล็ก ๆ ต่อมาแผลขยายลุกลามและยุบตัวลง ถ้ามีหลายแผลขยายมาติดกัน ขนาดของแผลจะกว้างขึ้นและยุบตัวเป็นแอ่งบุ๋ม ทำให้เน่าทั้งผล บางครั้งอาจพบเมือกสีส้ม ซึ่งเป็นกลุ่มสปอร์ของเชื้อราสาเหตุโรคอยู่ที่บริเวณแผลด้วย ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว สปอร์ของเชื้อรามีการแพร่ระบาคโดยทางลมและฝน โดยเฉพาะในสภาพอากาศที่ชื้นสลับกับอุณหภูมิสูงและมีความแห้งแล้ง แปลงเพาะกล้าที่แน่นทึบ มีความชื้นสูงในระยะแตกยอดอ่อน แทงช่อดอกและติดผลอ่อนทำให้เป็นโรคได้ง่าย สปอร์ของเชื้อราจากใบที่เป็นโรคจะไหลไปตามหยดน้ำลงสู่ขั้วผลแล้วกระจายไปทั่วผลทำให้ขั้วผลและกันผลเน่า โดยเชื้อราสามารถพักตัวในผลและทำให้ผลเน่าระยะหลังเก็บเกี่ยว จึงกล่าวได้ว่าโรคแอนแทรคโนสจัดเป็นโรคที่สำคัญที่สุดของมะม่วงในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการควบคุมและป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสในมะม่วงแบบผสมผสาน เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชรอบโคนต้น เพื่อลดความชื้นในทรงพุ่มและควบคุมปริมาณธาตุอาหารให้เหมาะสม ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบมะม่วงเริ่มมีอาการของโรค ควรตัดแต่งและเก็บส่วนที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค สำหรับแหล่งปลูกที่พบการระบาดของโรคเป็นประจำ ในช่วงที่มะม่วงแตกใบอ่อน เริ่มแทงช่อดอก และหลังติดผลอ่อน ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซอกซีสโตรบิน 25% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรคลอราซ 45% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 – 10 วัน และควรหลีกเลี่ยงการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ในช่วงดอกบาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการผสมเกสรของพืช หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง โดยเฉพาะกิ่งที่เป็นโรค และเก็บส่วนที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคในฤดูกาลผลิตต่อไป