“ลำไย”มีปัญหามาหลายปี ทั้งเรื่องของราคา และการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศโดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิดในปี 2562-2563
หากดูเฉพาะปี 2564 ลำไย ส่งออก 632,776.33 ตัน มูลค่า 25,698.23 ล้านบาท ประเทศที่นำเข้าเยอะที่สุดคือ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม พอปี 2565 ส่งออก 587,868.20 ตัน มูลค่า 31,827.80 ล้านบาทด้านปริมาณ เป็นรองทุเรียนกับ มะพร้าวอ่อน แต่เรื่องมูลค่า ลำไยยังเป็นผลไม้สดที่สร้างเงินสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่ทุเรียนเท่านั้น แต่นี่คือ ภาพในสองปีนี้
“ขุนพิเรนทร์”เจาะเวลาย้อนอดีต เกิดอะไรขึ้นกับลำไยบ้านเรา ในช่วงวิกฤตโควิด ลำไยราคาตกต่ำแต่พี่น้องชาวสวนลำไย ไม่ได้รับการเยียวยา หรือช่วยเหลือจากรัฐ นี่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดูแลเกษตรกรโดยตรง ได้เพียรพยายามเสนอ ครม.ให้มีการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไย มานาน และ “ขุนพิเรนทร์” ก็รับรู้มาตลอดและคิดไปว่าชาวสวนน่าจะได้เงินแล้ว
วันนี้มีข่าวลำไยถูกปล่อยออก ไม่ได้รับการเยียวยา “ขุนพิเรนทร์” ก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะ ดร.เฉลิมชัยศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2565 เสนอ ครม. ตามขั้นตอน ผ่านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และได้ลงนามในหนังสือถึง ครม. เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 เพื่อพิจารณาอนุมัติเป็นการเร่งด่วนในโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2564/2565
คือเรื่องมันนานแล้วนึกว่าจะเสร็จเรียบร้อย
แต่วันนี้ชาวสวนมีเอกสารปลิวว่อนทางโลกออนไลน์ว่า ลำไยอดแน่ๆ ยิ่งได้เจอ ข่าวพี่จ้อน อลงกรณ์ พลบุตร ออกมาซัดเปรี้ยง
“การดูแลช่วยเหลือเกษตรกรจะมีเพดานเงินไม่ได้เพราะหากเกิดภัยแล้งวันนี้ต้องใช้เงินช่วยเหลือเกษตรกรแล้วบอกว่าวงเงินไม่มี พูดแบบนี้อย่าเป็นรัฐบาล”
ยิ่งทำให้กังขามากขึ้น มีเวลาอยู่กระทรวงเกษตรฯเลยแว๊ปไปคุยกับ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “นราพัฒน์ แก้วทอง” ที่อีกหน้าที่หนึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคเหนือ ภาคที่เกษตรกรปลูกลำไยกันเยอะ
ผู้ช่วยนราพัฒน์ เป็นหนึ่งในทีมที่ผลักดันให้มีการเยียวยาพี่น้องชาวสวนลำไย และในอดีตลำไยก็เคยได้รับการเยียวยาหรือดูแลจากภาครัฐ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
“ผู้ช่วยนราพัฒน์” ถาม “ขุนพิเรนทร์” ว่า “ยังจำที่ผมแถลงข่าวปี 2563 ได้ไหม วันที่วิกฤตโควิด ลำไยก็วิกฤตด้วย ฟรุ้ทบอร์ดในวันนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบ ให้ดําเนินโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลําไย ปี 2563 มีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลําไย ปี 2562 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับ กรมส่งเสริมการเกษตรทุกครัวเรือน
ที่มีการเยียวยานั้นเนื่องจากเดือดร้อนจากปัญหาราคาตกต่ํา เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด รอบสองในจีน ทําให้โรงงานผลิตลําไยอบแห้งรับซื้อลําไยน้อยลง เช่นเดียวกับผู้ค้าส่งออกลําไยสดไปจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ ศุลกากรจีนยังเคร่งครัดเรื่องการสําแดงราคานําเข้าลําไย ทําให้เกิดความล่าช้าในขั้นตอนการนําเข้า ประกอบกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ ทําให้พ่อค้าชาวจีนลดจํานวนการเดินทางเข้ามา จึงส่งผลต่อราคาลําไย”
เมื่อถามถึงกรอบการเยียวยา ผู้ช่วยนราพัฒน์บอกว่า มีเงื่อนไขกรอบแนวทางช่วยเหลือที่กำหนดไว้ ขนาดพื้นที่ปลูกรายละ ไม่เกิน 25 ไร่ ในอัตรา 2,000 ต่อไร่ กรอบวงเงินทั้งหมด 3,821.54 ล้านบาท
หากแยกตามการใช้เงินเป็นสองส่วน คือ
ส่วนแรก เงินทุนผ่าน ธกส. ได้แก่เงินเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย อัตราไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ จำนวน 3,821,537,038 บาท ค่าบริหารจัดการโครงการ สำหรับ ธกส.ครัวเรือนละ 7 บาทจำนวน 1,354,388 บาท ค่าชดเชยต้นทุนให้ ธกส. ร้อยละ 2.25 ของวงเงินเยียวยาที่ต้องจ่าย83,842,650 บาท
ส่วนที่สองเป็นค่าบริหารจัดการโครงการของ กรมส่งเสริมการเกษตร 10,000,000 บาท
“ทุกอย่างวันนี้ คือรอ ครม. ครับ ซึ่งเราพยายามผลักดันมาโดยตลอด เห็นข่าวที่ถูกปล่อยออกมาก็ตกใจเหมือนกัน สำหรับงบประมาณนายกมีอำนาจอยู่แล้ว ถ้ากรอบวงเงินธกส. เต็มก็สามารถใช้งบกลางได้”
ผู้ช่วยนราพัฒน์พูดแบบสั้นๆ “ต้องถามท่านนายกครับว่ามีความจริงใจจะช่วยชาวสวนลำไยหรือเปล่า ถ้าอยากจะช่วย ก็ทำได้”
“ขุนพิเรนทร์” เดินออกจากกระทรวงเกษตรแบบเซๆ ก็จริงอย่างที่ผู้ช่วยนราพัฒน์บอก
เรื่องนี้ ต้องถามหาความจริงใจจากนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องถามคนอื่น งบกลางอยู่ในมือของลุงตู่ ให้หรือไม่ให้ก็บอกมาชัดๆ ไอ้ขุนจะได้บอกเกษตรกรชาวสวนลำไย ได้หรือไม่ได้ต้องเอาให้ชัด ไม่ต้องให้รอรัฐบาลหน้า
เยียวยาลำไย ขอให้จบที่รัฐบาลลุงตู่นี่หละขอรับ