เจาะกลางใจ..โดยขุนพิเรนทร์
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและติดตามการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล
ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนการขจัดความยากจน ที่ดำเนินการโดยศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้รายงานความก้าวหน้า ในระดับพื้นที่จากข้อมูลในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform – TPMAP)
ซึ่งผลการดำเนินงาน การวิเคราะห์สภาพปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไข (ข้อมูล ณ 30 เมษายน 2565) โดยเจ้าหน้าที่ ศพจ. สำรวจครัวเรือนในระบบ Logbook ทั้งหมด พบครัวเรือนที่เข้าข่ายยากจน จำนวน 647,139 ครัวเรือน จากเป้าหมายตั้งต้น 619,111 ครัวเรือน
ศพจ. พบว่า ครัวเรือนที่อยู่ใน “เป้าตั้งต้น” และมีการสำรวจปัญหาความยากจนและปัญหาอื่น ๆ จำนวน 615,128 ครัวเรือน มีตัวเลขครัวเรือนที่ตกหล่น (Exclusion Error) จำนวน 32,011 ครัวเรือน
ศพจ. ได้จำแนกปัญหาของ 615,128 ครัวเรือน พบเป็นปัญหาสุขภาพ 149,143 ครัวเรือน ปัญหาความเป็นอยู่ 145,573 ครัวเรือน ปัญหาการศึกษา 151,649 ครัวเรือน ปัญหารายได้ 319,248 ครัวเรือน และปัญหาการเข้าถึงบริการภาครัฐ 2,268 ครัวเรือน
ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการให้ความช่วยเหลือ (1 พ.ค.- 30 ก.ย.65) โดยหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือตามโครงการกิจกรรม ที่ผ่านการประชุม ศจพ.อำเภอ แก้ไขปัญหาทุกครัวเรือนให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ ภายใน 30 กันยายน 2565 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่รัฐบาลขีดเส้นเพื่อแก้ปัญหาคนจนให้หมดไป
ขุนพิเรนทร์อ่านแล้วได้แต่ยิ้มอ่อนๆ เป็นรัฐบาลที่กล้าประกาศขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไป ภายใน 30 กันยายน 2565
การประกาศเรื่องนี้ไม่ใช่ครั้งแรกปลัดกระทรวงมหาดไทย (อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน) ก็ประกาศก่อนหน้านี้ คนจนต้องหมดไปก่อน 30 กันยายน 2565
การทำงานมีเป้าหมายเป็นเรื่องดี “ขุนพิเรนทร์” ก็แค่สงสัย 600,000 ครัวเรือนนี่ไม่ใช่น้อย หัวเรือใหญ่อย่างมหาดไทยโดยพัฒนาชุมชนจะทำอย่างไร เรื่องนี้น่าติดตาม เพราะสองสามปีที่ผ่านมาพัฒนาชุมชนลงหลักปักฐานกับโครงการโคกหนองนาไปเยอะ ส่วนข้อมูลสำรวจในชุมชนน่าจะแน่นพอสมควร
กลัวอย่างเดียวคือพ้นความยากจนในกระดาษรายงาน แต่ไม่พ้นความยากจนในชีวิตจริง เอาแบบง่ายๆข้าวของเครื่องใช้ อาหาร เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค วันนี้พาเรดขึ้นราคาทั้งหมด แต่รายได้ต่ำลง เงินในกระเป๋าลดน้อยถอยลง
เกษตรกรปีนี้ก็เช่นกัน มีกี่รายที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปุ๋ย ยา ค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิตอยู่ในขาขึ้นทั้งหมด
ปัญหาความยากจนไม่ใช่จะแก้ง่ายๆอย่างแก้ผ้าเอาหน้ารอด และถ้าแก้ไม่ได้อย่างที่ให้ข่าวจะทำอย่างไร
ขุนพิเรนทร์ก็นำเสนอตรงๆ ท่านผู้ทรงเกียรติสมควรพิจารณาตัวเอง
โดยปราศจากข้อแม้ใดๆ