แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ เกษตร GAP 2.5 ล้านไร่ เจาะกลางใจ โดย “ขุนพิเรนทร์”วิพากษ์ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่พึ่งประกาศออกมาแบบสดๆร้อน กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระหว่างปี 2566-2570
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีวัตถุประสงค์เพื่อ พลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”
โดยมีหมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง
มูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปสูงขึ้น
1.1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตรเติบโต ร้อยละ 4.5 ต่อปี
1.2 รายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 537,000 บาท/ครัวเรือน
เมื่อสิ้นสุดแผน
1.3 พื้นที่เกษตรอินทรีย์ เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านไร่ และพื้นที่เกษตรที่ได้รับการรับรองตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านไร่ เมื่อสิ้นสุดแผน
1.4 พื้นที่เพาะปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมลดลง ร้อยละ 10 เมื่อสิ้นสุดแผน
อ่านถึงตรงนี้ “ขุนพิเรนทร์” ขยับแว่นตาหลายครั้ง พร้อมกับหยิกตัวเองแรงไปหลายที พร้อมบอกตัวเองเราไม่ได้ตาฝาด
พระเจ้าช่วยกล้วยทอด ยกกล้วยเลยหละวิ ขุนพิเรนทร์ไม่ติดใจในฐานะคนทำเกษตรอินทรีย์ที่รัฐตั้งเป้าไว้2 ล้านไร่ แต่ติดใจพื้นที่เกษตรที่ได้รับการรับรองตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านไร่
ทำไม…ถึงให้ความสำคัญกับแนวทาง GAP พอๆกับ เกษตรอินทรีย์ แผนนี้ต่างกันแค่ 500,000 ไร่ ทุกวันนี้ประเทศเราทำมาหากินกับเกษตรแบบไหน เกษตรอินทรีย์หรือเกษตร GAP เราส่งออกสินค้าเกษตรที่ทำให้รัฐบาลเชิดหน้าชูตาเป็นแสนล้านอย่างทุกวันนี้ เป็นเกษตรอินทรีย์หรือ GAP
เมื่อไหร่บ้านเมืองเราจะร่างแผนพัฒนาที่เข้าถึงเกษตรกรได้มากกว่านี้ “ขุนพิเรนทร์” อยากทราบเหมือนกันท่านคิดอะไรอยู่ ผลักดันให้เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ แต่เพิ่มเกษตร GAP เพียง 2.5 ล้านไร่
เกษตรรสนิยมกับเกษตรทำเงินมันต่างกัน เราจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 537,000 บาท/ครัวเรือน ได้อย่างไร ด้วยสัดส่วนการส่งเสริมแบบนี้หรือ แทนที่จะยอมรับและผลักดันให้เกษตร GAP ก้าวไกลและเพิ่มขึ้นมากกว่านี้
นี่ถ้าศรีลังกาไม่ล้มเลิกการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศ
รัฐบาล…คงประกาศเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์แล้วใช่ไหมวิ