หนึ่งในข่าวดังของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือข่าว ”ปลาหมอคางดำ“ ที่ระบาดอย่างหนัก และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของไทย
”ปลาหมอคางดำ“ สร้างปัญหามานานหลายปี แต่เข้าสู่จุดพีคที่สุดในปีนี้ ส่งผลให้สังคมตั้งคำถามไปยังกรมประมง
ปลาหมอคางดำใครคือคนรับผิดชอบ
จะแก้ปัญหาการแพร่ระบาดได้อย่างไร?
เชื่อไอ้ขุนเถอะ ไม่ว่าวันนี้ หรือวันพรุ่งนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง คือกรมประมง ถ้าจะพูดกันให้ตรงไปตรงมา วันนี้กรมประมงคางเหลืองจากปลาหมอคางดำ ทำได้เพียงก้มหน้าก้มตาแก้ปัญหาที่ไม่รู้จะจบสิ้นวันไหน เพราะท้ายที่สุดแล้วปลาหมอคางดำ จะยังคงอยู่ในระบบนิเวศต่อไป และจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปลาบ้านเรา 
ส่วนใครคือต้นตอการระบาด และจะรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร คำถามนี้ท้ายที่สุดเชื่อไอ้ขุนไหมครับ จะจางหายไปกับสังคม แม้จะมีคนฟ้องบริษัทเอกชน แต่จะไปถึงจุดที่ชี้ชัดได้หรือไม่ ”ใครคือต้นตอ“ บอกตามตรง ยากมาก!!
ส่วนจะแก้ปัญหาอย่างไร?
วันนี้กรมประมง ได้วางมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวมาแล้ว ในบางพื้นที่ มีข่าวการระบาดลดลง แต่ในบางพื้นที่ข้อมูลเชิงลึกจากเกษตรกรในพื้นที่ยังพบการระบาดเช่นเดิม ตรงนี้ไม่ขอวิพากษ์แล้วกันครับ เพราะประมงเก่งเรื่องปลา และ ในทางวิชาการ รู้วิธีจะจัดการอยู่แล้ว “ขุนพิเรนทร์” ให้กำลังใจ กรมประมงนะ แม้ผู้บริหารกรมจะหลบสื่อบ้าง พริ้วบ้าง ตอบไม่ตรงประเด็นบ้าง
ขอให้กรมประมงช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและความสมดุลในระบบนิเวศ พร้อมคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำอย่างยั่งยืนได้ “ขุนพิเรนทร์” ก็ยิ้มแล้วครับ
สุดท้ายที่อยากจะบอกกรมประมง
ปี 2566 ปลาเก๋าหยก
ปี 2567 ปลาหมอคางดำ
ปี 2568 คงไม่มีปลาชนิดอื่นโผล่มาอีกนะครับ