กลายเป็นเรื่องราวในวงการทุเรียนไทย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ด่านตรวจพืชมุกดาหาร กรมวิชาการเกษตร ไม่ออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้ เพราะได้รับแจ้งทางลับจากด่านตรวจพืชจันทบุรี ว่า รถบรรทุกคอนเทนเนอร์ 2 ตู้ มีพฤติกรรมน่าสงสัย แต่ที่จันทบุรี ไม่มีเครื่องชั่งจึงตรวจละเอียดไม่ได้
เมื่อเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชมุกดาหาร ตรวจในตู้คอนเทนเนอร์พบว่าทั้ง 2ตู้ บรรจุทุเรียนน้อยกว่าที่แจ้งไว้ในเอกสาร โดยบรรจุตู้ละ 471กล่อง และ 472กล่องเท่านั้น รวมน้ำหนัก 34,560 กิโลกรัม แต่หากเป็นการบรรจุทุเรียนเต็มตู้ จะอยู่ที่ประมาณ 960 กล่อง รวมน้ำหนักประมาณ 18,000 กิโลกรัม/ตู้
การสุ่มตรวจโดยด่านตรวจพืชมุกดาหาร ยังพบ
-ทุเรียนที่มีเพลี้ยแป้งและราดำ
-ผลทุเรียนด้อยคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐานการส่งออก
-บรรจุภัณฑ์บางส่วนอยู่ในสภาพเหมือนถูกใช้ซ้ำปะปนอยุ่กับบรรจุภัณฑ์ใหม่
สติกเกอร์ที่ติดขั้วผล และสติกเกอร์ที่ติดข้างบรรจุภัณฑ์ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในพิธีสารไทย-จีน
-มีข้อความสำแดงไม่ตรงตามเอกสารที่แจ้ง
ด่านตรวจพืชมุกดาหาร จึงปฏิเสธการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และแจ้งให้ตัวแทนผู้ส่งออกรับทราบ ผู้ส่งออกจึงได้มีหนังสือถึงหัวหน้าด่านตรวจพืชจันทบุรี เพื่อขอคืนตู้สินค้าดังกล่าวกลับไปยังโรงคัดบรรจุต้นทาง ที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โดยอ้างว่าไม่ได้ตรวจสอบสินค้าก่อนบรรจุตู้ และทางบริษัทไม่ประสงค์ขอใบรับรองสุขอนามัยพืช
ด่านตรวจพืชมุกดาหาร จึงได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ณ สถานีตำรวจภูธรเมืองมุกดาหารพร้อมแจ้งกลับไปยังกรมวิชาการเกษตร / สวพ.6 และด่านตรวจพืชจันทบุรี
เมื่อตรวจสอบย้อนกลับตามเอกสาร พบล้ง อักษรย่อ“ธ” ใน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นผู้ขอส่งออกทุเรียนทั้ง 2 ตู้ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอดูจุดการแพ็คบรรจุ เจ้าของยอมรับว่า ไม่ได้มีการแพ็คทุเรียน และล้งเพิ่งเปิดดำเนินการได้เพียง 1ปี มีเพียงเอกสารได้รับอนุญาตให้เปิดล้งจากทางจังหวัด และได้รับอนุญาตให้มีสติ๊กเกอร์ติดขั้วทุเรียน หรือ DOA เท่านั้น
สอบถามถึงทุเรียน 2 ตู้ ที่ถูกตีกลับมาไปอยู่ที่ใด เจ้าของล้ง บอกว่าไม่ทราบและไม่ได้กลับไปที่ล้ง ตัวเองทั้งๆที่เอกสารระบุว่า จะกลับมาที่ล้งแห่งนี้
สอบข้อมูลลงไปอีกถึงที่มาของตู้คอนเทนเนอร์บรรจุทุเรียนไม่เต็มและไร้คุณภาพอย่างรุนแรง หรือจะเรียกว่า ทุเรศก็ไม่แปลก เพราะทุเรียนที่อยู่ในกล่องกำลังจะถูกส่งออก ผู้ประกอบการ และชาวสวนบางคน คุยกันในกลุ่มว่า สภาพที่เห็นเกินจะเยียวยา ให้ฟรียังไม่มีใครอยากได้
เจ้าของล้ง อ้างว่า ทุเรียนเป็นของ“นายแทน” เป็นผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนที่เป็นเพื่อนกัน “นายแทน”จัดหาทุกอย่างมาให้ เพียงแต่มายืมชื่อล้งและสติ๊กเกอร์ติดขั้วทุเรียนของล้งตัวเองเพื่อส่งออกเท่านั้น แต่เมื่อถามถึงชื่อ นามสกุลจริงของ“นายแทน” เจ้าของล้ง “ธ” อ้างว่า รู้จักแต่ชื่อเล่น แต่เมื่อตรวจสอบลึกลงไปพบว่า “นายแทน” คือ ผู้ประกอบการบริษัท “S” ชื่อล้ง คือ “ท” ตั้งอยู่ในเขต อ.มะขาม จ.จันทบุรี
ที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือในทางลับของเจ้าหน้าที่ตรวจตู้คอนเทนเนอร์ที่ด่านตรวจพืชมุกดาหาร พบสติ๊กเกอร์ที่ขั้วทุเรียน หรือที่เรียกกันว่า DOA ตกอยู่หลายชิ้น เมื่อหยิบมาตรวจสอบพบว่า เป็น DOA ของอีกล้งที่อยู่ใน อ.มะขาม เช่นเดียวกัน ล้งนี้ ชื่อย่อ“น”เคยถูกเจ้าหน้าที่ทีมเล็บเหยี่ยวดำเนินคดีกรณีมีการตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพ(อ่อน)เกินกว่ามาตรฐานส่งออก และเป็นล้งที่อยู่ในบัญชี“สีแดง” ของทีมเล็บเหยี่ยว พิทักษ์ทุเรียนไทย กรมวิชาการเกษตร ด้วย
นาย ชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 กรมวิชาการเกษตร จึงมั่นใจว่า ทั้ง 3 ล้ง คือ ล้ง“ธ” ล้ง“ท” และล้ง“น” น่าจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และ 3 ล้งนี้ ต้องสงสัยว่าจะเป็นขบวนการสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยระหว่างทางก่อนถึงด่านประเทศจีน ที่เจ้าหน้าที่มีข้อมูลและติดตามอยู่ขณะนี้
เพราะกลุ่มนี้ต้องการเพียงเอกสารรับรองว่า เป็นทุเรียนที่ออกจากประเทศไทย เมื่อถึงระหว่างทางนัดหมาย จะทำการเปลี่ยนทุเรียนในตู้
…โปรดติดตาม EP.ต่อไป