จีนเตรียมจัดตั้ง “ธนาคารพันธุกรรม” ของเซรามิกโบราณในมณฑลเจียงซี ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากเศษเซรามิก ที่เก็บสะสมมานานราว 40 ปี จำนวนเกือบ 20 ล้านชิ้น
เมื่อวันเสาร์ (11 มิ.ย.65) เวิงเยี่ยนจวิน ประธานสถาบันเตาเผาหลวงจิ่งเต๋อเจิ้น ณ เมืองจิ่งเต๋อเจิ้น ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกด้วยฐานะ “เมืองหลวงเครื่องเคลือบ” ระบุว่า เศษเซรามิกโบราณเพียงชิ้นเดียว สามารถมอบข้อมูล “พันธุกรรม” นับร้อย ซึ่งมอบรายละเอียดเกี่ยวกับรูปร่าง การเคลือบเงา เม็ดสี ฯลฯ
เวิง เปิดเผยว่า ธนาคารพันธุกรรมของเซรามิกโบราณนี้ยังมีแนวโน้มช่วยฟื้นฟูกระบวนการเผาและสูตรวัตถุดิบทำเซรามิกโบราณอีกด้วย
คณะนักวิจัยจะใช้เครื่องวิเคราะห์ความวาวแสงด้วยรังสีเอ็กซ์และอุปกรณ์อันทันสมัยอื่นๆ มาสร้างตัวอย่าง “พันธุกรรม” ในรูปแบบกายภาพและดิจิทัล โดยมีกำหนดจัดทำตัวอย่างพันธุกรรมเซรามิกโบราณชุดแรกเกือบ 1 หมื่นชิ้น ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีครึ่ง
“หลังจากสร้างธนาคารพันธุกรรมเสร็จแล้ว เราอาจจะแบ่งปันข้อมูลกับสถาบันวิชาการทั้งในและนอกประเทศ เพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยอารยธรรมเซรามิกทั่วโลก และสร้างแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมเซรามิกในระดับนานาชาติ” เวิงกล่าว
โดยธนาคารพันธุกรรมของเซรามิกโบราณ จะร่วมสร้างโดยสถาบันเตาเผาหลวงจิ่งเต๋อเจิ้น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงหัว พิพิธภัณฑ์พระราชวัง และสถาบันเซรามิกเซี่ยงไฮ้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิยาศาสตร์จีน
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว (XinhuaThai)