ฟาสต์ (FAST) กล้องโทรทรรศน์วิทยุจานรับสัญญาณเดี่ยวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตร ซึ่งได้รับการขนานนามเป็น “ดวงตาจักรวาลจีน” พบพัลซาร์คู่ (binary pulsar) ที่มีคาบการโคจร 53.3 นาที ซึ่งเป็นคาบสั้นที่สุดเท่าที่มีการค้นพบสำหรับพัลซาร์ในระบบดาวคู่
งานวิจัยซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยทีมที่นำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้รับการเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันพุธ(21 มิ.ย.) ที่ผ่านมา
พัลซาร์ คือดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวด้วยความเร็วสูง มีต้นกำเนิดจากแกนกลางที่ระเบิดอยู่ภายในของดาวฤกษ์มวลสูงที่กำลังจะตาย ผ่านการระเบิดของซูเปอร์โนวา การสังเกตการณ์พัลซาร์เป็นภารกิจที่สำคัญของกล้องโทรทรรศน์ฟาสต์ ซึ่งสามารถใช้ยืนยันการมีอยู่ของรังสีความโน้มถ่วง (gravitational radiation) และหลุมดำ อีกทั้งช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับฟิสิกส์ที่สำคัญอื่นๆ ได้
เจียงเผิง หัวหน้าวิศวกรของกล้องฟาสต์ ระบุว่าพัลซาร์คู่ดังกล่าวชื่อว่าพีเอ็สอาร์ เจ1953+1844 (เอ็ม71อี) (PSR J1953+1844 (M71E)) อยู่ในระบบพัลซาร์แมงมุม (spider pulsar) ที่มีความเร็วเชิงมุมในการโคจรใหญ่ที่สุด และนับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบสถานะกลางของการวิวัฒนาการจากพัลซาร์แมงมุมหลังแดงเป็นพัลซาร์แมงมุมแม่ม่ายดำ ซึ่งช่วยเติมเต็มช่องว่างในทฤษฎีวิวัฒนาการของพัลซาร์แมงมุม
การสังเกตทางดาราศาสตร์พบว่าพัลซาร์บางดวงมีดาวฤกษ์บริวารในวงโคจรใกล้ โดยหานจินหลิน นักวิจัยของหอสังเกตการณ์ฯ กล่าวว่าคาบการโคจรของพัลซาร์ในวิวัฒนาการนั้นค่อนข้างสั้น และระยะห่างระหว่างดาวทั้งสองอยู่ใกล้กันมาก ซึ่งสร้างความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับการสังเกตการณ์ ทว่าการตอบสนองรวดเร็วและศักยภาพการตรวจจับของฟาสต์ ทำให้สามารถยืนยันเส้นทางวิวัฒนาการได้
อนึ่ง กล้องโทรทรรศน์ฟาสต์ตั้งอยู่ในแอ่งคาสต์ทรงกลมลึกตามธรรมชาติในอำเภอผิงถัง มณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ได้ชื่อว่าเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ตอบสนองเร็วที่สุดในโลก และเริ่มเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2020 ก่อนเปิดให้ทั่วโลกใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่31 มี.ค. 2021
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว(Xinhua)