“ฉันนึกไม่ถึงว่า ‘ต้มยำกุ้ง’ จะกลายเป็นเมนูห้ามพลาดและสั่งกันทุกโต๊ะขนาดนี้” สุขุมาล ตู้ หรือตู้เสวี่ยลี่เจ้าของร้านอาหารไทยในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนกล่าว
สาวไทยที่มาแต่งงานอยู่ปักกิ่งเล็งเห็นโอกาสทำธุรกิจอาหารไทยในปี 2021 นำไปสู่การเปิดร้านอาหารไทยในเขตทงโจว โดยมีคุณแม่ที่เปิดร้านอาหารในไทยมานานกว่า 20 ปี และน้องสาวที่เพิ่งเรียนจบเป็นผู้ช่วย
“ร้านของเราถือเป็นร้านอาหารไทยเจ้าแรกของเขตทงโจว” ตู้กล่าวอย่างภูมิใจ โดยร้านอาหารที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของคนในครอบครัวนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ “ครัวคุณแม่” และ “ร้านสองพี่น้องชาวไทย”
“เรานำเข้าวัตถุดิบอย่างใบมะกรูดและตะไคร้จากไทย เพื่อพยายามคงรสชาติดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด” ตู้กล่าว โดยเธอจัดการควบคุมทุกอย่างตั้งแต่เลือกทำเลจนถึงสร้างตกแต่งร้าน
ความมุ่งมั่นตั้งใจของตู้ นำสู่กระแสตอบรับที่จากลูกค้าชาวจีน แม้ที่ตั้งร้านจะไกลจากใจกลางเมือง แต่มีลูกค้าแวะเวียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยบางวันที่ขายดีมีลูกค้าเข้ามารับประทานสูงกว่า 50 โต๊ะ
“เคยมีลูกค้าขับรถไกลกว่า 60 กิโลเมตร เพราะอยากรับประทานต้มยำกุ้ง แถมยังซื้อน้ำซุปต้มยำติดมือกลับบ้านไปฝากภรรยาที่บ้านอีก 5 กิโลกรัมด้วย” ตู้เล่าด้วยความประทับใจ
ร้านอาหารไทยชื่อ “นกเอี้ยงและควาย” ของตู้ได้รับตรา “ไทย ซีเล็ต” (Thai SELECT) จากกระทรวงพาณิชย์ของไทยเมื่อปลายปี 2022 ซึ่งการันตีว่าเทคนิคการทำ วัตถุดิบ และรสชาติของร้านนี้มีความ“ไทยแท้”
ตู้ เผยว่า ช่วงสามปีที่ผ่านมา จำนวนร้านอาหารไทยในปักกิ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า มีขนาดทั้งเล็กและใหญ่กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง และเสิร์ฟอาหารไทยสารพัดเมนูตั้งแต่ตำรับชาววังจนถึงสตรีทฟูด
ทั้งนี้ การจัดอันดับร้านอาหารห้ามพลาดประจำปี 2022 โดยเตี่ยนผิง (dianping) เว็บไซต์ไลฟ์สไตล์คนเมืองในจีน ระบุว่าอาหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครองตำแหน่งอาหารต่างถิ่นยอดนิยมอันดับ 4 รองจากอาหารตะวันตก อาหารญี่ปุ่น และอาหารเกาหลี โดยมีอาหารไทยเป็นหัวหอกหลักนำทัพอาหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การค้าและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนจีนและไทยแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วยอานิสงส์จากแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) โดยชาวจีนสนใจอาหารไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเพียงแค่อยาก“ลองชิม” แวะเช็กอินร้านอาหารไทยไปสู่การซื้อวัตถุดิบกลับไปต้มผัดแกงทอดที่บ้าน
ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ไทยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 8.59 ล้านคน ซึ่งราวหนึ่งในสิบมาจากแผ่นดินใหญ่ของจีน
“รสชาติของร้านนี้เหมือนกับที่ฉันเคยกินที่ไทย” หญิงแซ่หลี่ในปักกิ่งที่เพิ่งกลับจากไทยไม่นานเผยขณะรับประทานอาหารอยู่ที่ร้านของตู้ พร้อมเสริมว่าตอนนี้หาซื้อวัตถุดิบอาหารไทยได้สะดวก ทำให้สามารถลองฝึกทำอาหารไทยที่บ้านได้
อนึ่ง จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยตลอดสิบปีที่ผ่านมา โดยการค้าทวิภาคีในปี 2022 สูงถึง 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.63 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบปีต่อปี
ขณะเดียวกันจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไทยขนาดใหญ่ที่สุด โดยการส่งออกสินค้าเกษตรไทยสู่จีนในปี 2022 สูงแตะ 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.32 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบปีต่อปี
ขณะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมกราคมปีก่อน ช่วยให้สินค้าไทยได้รับการลดหย่อนภาษีศุลกากรถึง 39,000 รายการ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ 29,000 รายการ โดยจีนเป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าภายใต้ความตกลงฯ มากที่สุด
“ชื่อร้านมาจากสุภาษิตไทยเกี่ยวกับนกเอี้ยงและควายที่พึ่งพาอาศัยกัน เหมือนเจ้าของร้าน ลูกจ้าง และลูกค้าที่ต้องสนับสนุนและไว้ใจกัน ธุรกิจถึงจะเติบโต” ตู้กล่าว พร้อมเสริมว่าอาหารเป็นดังสายใยของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และเธอยินดีเชื่อมมิตรภาพจีน-ไทย ผ่านการเสิร์ฟอาหารไทยรสชาติดั้งเดิมสู่ชาวจีนต่อไป
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว(Xinhua)