นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า หนอนกินใบมะพร้าว (Coconut leaf moth) หรือ หนอนบุ้งเล็ก เป็นศัตรูสำคัญของมะพร้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศเริ่มพบระบาดหนักในปี 2551 ในแปลงมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน ที่อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร สร้างความเสียหายกว่า 300 ไร่
ต่อมาพบการระบาดในมะพร้าวที่จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส สร้างความเสียหายในพื้นที่กว่า 400 ไร่และในเดือนมีนาคม 2566 พบเข้าทำลายสวนมะพร้าวตำบลท่าหิน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ประมาณ200ไร่
เบื้องต้นกรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือแนะนำเกษตรกรแล้ว พร้อมเน้นย้ำถึงวิธีการป้องกันกำจัดหนอนกินใบมะพร้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดชุมพร และชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่ภาคใต้เพื่อเร่งป้องกันกำจัดและควบคุมได้ทันเวลาก่อนจะแพร่ระบาดเป็นบริเวณกว้างและสร้างความเสียหายให้แก่สวนมะพร้าวส่งผลกระทบต่อเกษตรกร
โดยหนอนกินใบมะพร้าวมีวงจรชีวิต 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ 3-5 วัน ระยะหนอน 18-20 วัน ระยะดักแด้ 8-10 วัน และระยะตัวเต็มวัย รวมวงจรชีวิตประมาณ 29-35 วัน โดยตัวเต็มวัยจะเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กสีน้ำตาลเทา ลักษณะเด่น คือ ขณะเกาะจะทำมุมประมาณ 60 องศา เฉพาะส่วนปลายท้องและขาเท่านั้นที่เกาะใบพืช ตัวเต็มวัยกินน้ำหวานจากช่อดอกมะพร้าวเป็นอาหาร และสามารถบินอพยพระหว่างสวนมะพร้าวได้ประมาณ 1-1.5 กิโลเมตร
โดยจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวใต้ใบมะพร้าว หลังจากฟักหนอนจะกัดกินอยู่ใต้ใบ หนอนขนาดเล็กจะแทะผิวใบเป็นทางยาว เมื่อหนอนโตเต็มที่จะกัดกินที่ขอบใบ ทำให้ใบขาดแหว่ง กัดกินใบจากล่างไปยอดทำให้ใบเหลืองและแห้ง จากนั้นจะเข้าดักแด้ในรังไหมสีเหลืองอมเทาบริเวณเส้นกลางใบ
กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอแจ้งเตือนและเน้นย้ำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวโดยเฉพาะภาคใต้ หมั่นสำรวจสวน หากพบการทำลายของศัตรูดังกล่าวให้เร่งกำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรทันที
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการป้องกันกำจัด หากสังเกตพบใบมะพร้าวเหลืองหรือแห้งผิดปกติ ให้เกษตรกรสำรวจดูใต้ใบ หากพบหนอนหรือดักแด้ให้ตัดใบและนำเศษซากไปทำลายทิ้งนอกแปลง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่พันธุ์ และหากพบการแพร่ระบาดจำนวนมาก ให้ใช้สารป้องกันกำจัดตามคำแนะนำคือ มะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ใช้สารเคมีอีมาเมกติน เบนโซเอต1.92% EC ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น
ด้วยการเจาะลำต้นมะพร้าวสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ใช้ดอกสว่านขนาด 4 – 5 หุน เอียงลง 45˚ เจาะลึก 10 เซนติเมตร เจาะ 2 รู ให้รูอยู่ตรงกันข้ามกัน ใส่สารรูละ 15 มิลลิลิตร จากนั้นใช้ดินน้ำมันอุดรูทันที วิธีนี้จะป้องกันกำจัดหนอนได้นานมากกว่า 3 เดือน ส่วนมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร เช่นมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ทำน้ำตาลให้ใช้วิธีการพ่นสารทางใบ ได้แก่ ฟลูเบนไดเอไมด์20% WG อัตรา 5 กรัม หรือคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือสปินโนแสด 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ20 ลิตร พ่นให้ทั่วทรงพุ่ม จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน