ผลการศึกษาจากสถาบันเศรษฐกิจเยอรมนี (IW) เมื่อไม่นานนี้ ระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเติม 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 55.87 ล้านล้านบาท) หากปราศจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
ไมเคิล กรอมลิง ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันฯ เผยว่าความขัดแย้งดังกล่าวมีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจระดับโลกสูง โดยบรรดาบริษัททั่วโลกเผชิญแรงกดดันจากปัญหาอุปทานพลังงานและวัตถุดิบ
ขณะชาติตะวันตกรับผลกระทบเป็นพิเศษเพราะสูญเสียการผลิตระดับโลกถึง 2 ใน 3
ราคาพลังงานที่พุ่งสูงในเยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป ผลักดันอัตราเงินเฟ้อสูงเกินเกณฑ์ร้อยละ 10 เป็นการชั่วคราวในปี 2022 ก่อนมาตรการบรรเทาจะดึงราคาลงอีกครั้ง
โดยสำนักงานสถิติกลางเยอรมนีระบุว่าอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 8.7
สถาบันฯ ระบุว่าราคาพลังงานที่สูงทำให้ต้นทุนการผลิตเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ทันคาดคิด ซึ่งกลายเป็นความยากลำบากของหลายบริษัท
ส่วนราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นฉุดกำลังซื้อของครัวเรือนจนการบริโภคหดตัว นำสู่ภาวะบริษัทต่างๆ ลังเลจะลงทุนเพราะเกิดความผันผวนทั่วโลกและราคาสูงขึ้น
ทั้งนี้ สถาบันฯ คาดการณ์การสูญเสียมูลค่าเพิ่มทั่วโลกเพิ่มเติมในปี 2023 อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ(ราว 34.92 ล้านล้านบาท) โดยกรอมลิงชี้ว่ายังไม่มีสัญญาณดีขึ้นในปีนี้ พร้อมเตือนว่าปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและความผันผวนจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนับปี
ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 เมื่อเดือนมกราคม ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.7 เป็นร้อยละ 2.9 โดยมีการกลับมาเปิดประเทศของจีนปูทางสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเร็วกว่าที่คาดไว้
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว(Xinhua)