องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยบนเรือสำรวจอินเวสติเกเตอร์(Investigator) ได้ค้นพบ “สุสานฉลาม” แห่งหนึ่งบนพื้นมหาสมุทรอินเดียระหว่างการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของอุทยานทางทะเลใหม่ล่าสุดสองแห่งของประเทศ
ขณะสำรวจชีวิตสัตว์ทะเลและถิ่นที่อยู่อาศัยใต้ทะเลบริเวณอุทยานทางทะเลหมู่เกาะโคโคสในมหาสมุทรอินเดียอันห่างไกล อวนลากที่ระดับความลึก 5,400 เมตร สามารถนำฟอสซิลฟันฉลามมากกว่า 750 ซี่ ขึ้นมาบนบก
ฟอสซิลฟันเหล่านั้นไม่ได้เป็นแค่ของฉลามสายพันธุ์ยุคใหม่ เช่น ฉลามมาโกและฉลามขาว แต่ยังรวมถึงสายพันธุ์ก่อนประวัติศาสตร์ อาทิ บรรพบุรุษของเมกาโลดอน ฉลามสายพันธุ์ยักษ์ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 3.5 ล้านปีก่อน
คณะนักวิจัยมองว่าการค้นพบดังกล่าวนั้นน่าประหลาดใจ โดยหลังจากการสำรวจหมู่เกาะโคโคส ขณะนี้เรือสำรวจอินเวสติเกเตอร์กำลังแล่นอยู่ในอุทยานทางทะเลแกสคอยน์ ใกล้กับชายฝั่งรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย
จอห์น คีซิง หัวหน้านักวิทยาศาสตร์จากองค์การฯ ประมาณการว่า หนึ่งในสามของสายพันธุ์ที่รวบรวมได้ในการเดินทางครั้งนี้เป็นสิ่งใหม่สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงฉลามฮอร์นสายพันธุ์ใหม่ ที่อาศัยอยู่ในน้ำลึกกว่า 150 เมตร และไม่เคยได้รับการตั้งชื่อมาก่อน
คีซิง ระบุว่า การค้นพบของเราไม่ได้มีเพียงสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ๆ เท่านั้น แต่การเดินทางดังกล่าว ยังเปิดโอกาสแก่การเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศทางทะเล ช่วงการกระจายพันธุ์ ความอุดมสมบูรณ์ และพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลมากขึ้น
“ตั้งแต่ฉลามตัวเล็กสายพันธุ์ใหม่บริเวณก้นทะเล ไปจนถึงฉลามโบราณขนาดใหญ่ที่เคยท่องไปทั่วมหาสมุทร การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ส่งมอบข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรของเรา” คีซิง กล่าว
โดยองค์การฯ กำลังดำเนินการสำรวจในนามของพาร์ก ออสเตรเลีย (Parks Australia) เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับอุทยานทางทะเลและสนับสนุนความพยายามการอนุรักษ์
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว(Xinhua)