เชิญชวนไปเที่ยวงานเกษตรกำแพงแสน ที่กำลังจะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2565 ณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งจะมีสถานที่เช็คอิน ถ่ายภาพ ที่ไม่ควรพลาด คือ “นาข้าวสรรพสี” ของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว
สำหรับข้าวสรรพสี เป็นการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง พันธุ์พ่อ เป็นข้าวเจ้าหอมนิลพันธุ์กลายใบขาว กับพันธุ์แม่ เป็นข้าวก่ำหอมนิล จนเกิดเป็นข้าวสรรพสี
ประกอบด้วย สายพันธุ์ใบสีชมพูทับทิมต้นสูง (สรรพสี 01),ใบสีชมพูทับทิมต้นเตี้ย (สรรพสี 02), ใบสีชมพูแถบเขียวและขาวต้นสูง (สรรพสี 03), ใบสีชมพูแถบเขียวและขาวต้นเตี้ย (สรรพสี 04) และใบสีขาว(สรรพสี 05) ซึ่งข้าวสรรพสีทั้ง 5 สายพันธุ์ อยู่ในระหว่างขั้นตอนการยื่นจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่
จุดเริ่มต้นของนาข้าวสรรพสี เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2553 เกิดการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง พันธุ์พ่อ‘ข้าวเจ้าหอมนิลพันธุ์กลายใบขาว’ กับ พันธุ์แม่ ‘ข้าวก่ำหอมนิล’ จนเกิดเป็น”ข้าวสรรพสี” โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
ใบข้าวโดยทั่วไป มีสีเขียวเกิดจากการสะสมรงควัตถุที่เรียกว่า Chlorophyll ซึ่ง Chlorophyll ถือว่าเป็นรงควัตถุที่มีมากที่สุดในโลก เนื่องจากพืชและจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ต่างก็มีรงควัตถุชนิดนี้ ข้าวบางชนิดมีสีใบที่แตกต่างอย่างชัดเจน เช่น พันธุ์ข้าวเหนียวพื้นเมืองที่เรียกว่า ข้าวก่ำ มีใบสีม่วงอมเขียว
บางสายพันธุ์อาจมีใบและลำต้นสีม่วงเข้มสวยงามมาก รงควัตถุที่ทำให้ใบข้าวเกิดสี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ คลอโรฟิวส์ (Chlorophyll) ให้สีเขียว แคโรทีนอยด์ (carotenoid) ให้สีเหลืองถึงแดง แอนโทไซยานิน (anthocyanin) ให้สีแดงม่วงไปจนถึงน้ำเงิน
การปรับปรุงพันธุ์ข้าวสรรพสี
โดยวิธีการผสมข้ามพันธุ์ คัดเลือกต้น F2 โดยเน้นจากความหลากหลายของเฉดสีบนแผ่นใบ รูปร่างใบขนาดใบ ซึ่งพบการกระจายตัวของสีใบ ตั้งแต่เขียวสลับขาว ชมพู ม่วง คัดเลือกลักษณะทรงต้นที่ดี สีใบและรูปร่างใบ มีความสม่ำเสมอ เพื่อเลือกสายพันธุ์ที่เป็นตัวแทนแต่ละเฉดสีใบ จากครอบครัว F2 ดีเด่นจากนั้นนำมาผสมข้ามต้นระหว่างครอบครัว F1 เพื่อผลิตปลูกแล้วเก็บเมล็ด F2 มาปลูกและคัดเลือก F2 สายพันธุ์ที่มีสีใบตามเป้าหมาย ใบตั้ง กอตั้ง ไม่ไวแสง ในปี 2556
คัดเลือกและปลูกครอบครัว F3 จากแต่ละคู่ผสม ในปี 2557 และทำเช่นนี้อีกในรุ่น F4 และ F5 ในปี2558-2559 จนได้ข้าวสรรพสี ที่มีสีของใบแตกต่างกัน ความสูงต่างกัน ทรงกอตั้ง ไม่ไวแสง อายุยาวจำนวน 5 สายพันธุ์
ประกอบด้วย
- สายพันธุ์ใบสีชมพูทับทิมต้นสูง (สรรพสี 01)
- ใบสีชมพูทับทิมต้นเตี้ย (สรรพสี 02)
- ใบสีชมพูแถบเขียวและขาวต้นสูง (สรรพสี 03)
- ใบสีชมพูแถบเขียวและขาวต้นเตี้ย (สรรพสี 04)
- ใบสีขาว (สรรพสี 05)
สายพันธุ์ข้าวสรรพสีเหล่านี้ จะปรากฏสีบนแผ่นใบชัดเจนและสวยงามมาก เมื่อปลูกในช่วงฤดูหนาว ข้าวสรรพสีทั้ง 5 สายพันธุ์ อยู่ในระหว่างขั้นตอนการยื่นจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (Plant Variety Protection: PVP)
รงควัตถุที่พบในข้าวสรรพสี คือ anthocyanin ที่สะสมอยู่จนทำให้ใบและทุกส่วนของก้านดอกข้าว มีสีสวยงามตั้งแต่ม่วงไปจนถึงชมพู anthocyanin ที่พบในข้าวสรรพสี มีส่วนผสมกันของ cyaniding-3-glucoside (สีส้ม-แดง), peonidin-3-glucoside (สีส้ม-แดง), peargomidin-3-glucoside (สีส้ม) และdelphinidin-3-glucoside (สีน้ำเงิน-แดง)
สาร anthocyanin เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญที่สุดในข้าว เพราะมีปริมาณมากที่สุดและสามารถละลายน้ำได้ ถูกดูดซึมได้ง่าย การบริโภคข้าวกล้องที่มีสี รวมทั้งผักและผลไม้ที่มีสี จึงช่วยลดสภาวะ Oxidative stress ภายในเซลล์ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น anthocyanin ยังเป็นสารกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตในเส้นเลือดแดง โดยเฉพาะเส้นเลือดฝอย ต่อต้านการสะสมไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลและภาพ จาก : ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน