กรมวิชาการเกษตร ดำเนินงานโครงการสนองแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงโครงการ “พัฒนาลุ่มน้ำพื้นที่ต้นน้ำ น้ำหนาว พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน” อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วยเหลือราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ต้นน้ำ ส่งเสริมการสร้างป่าเศรษฐกิจสร้างรายได้โดยการปลูกพืชยั่งยืน ขยายผลเทคโนโลยี สร้างการรวมกลุ่ม เชื่อมโยงเครือข่าย และการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ก่อนที่กรมวิชาการเกษตรจะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ปัญหาสำคัญในพื้นที่แห่งนี้คือเกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้ปีละครั้ง ซึ่งมีความเสี่ยงในการผลิตเนื่องจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การระบาดของศัตรูพืชทำให้เกษตรกรในพื้นที่ต้องใช้ต้นทุนสูง
รวมไปถึงการบุกรุกทำลายป่า สภาพป่าไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันกับความต้องการ ทำให้เกิดผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ สังคมและระบบนิเวศ รวมถึง เกษตรกรในพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ มุมของการปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ เทคโนโลยีการผลิต พันธุ์พืช การเก็บเกี่ยว และการแปรรูป
ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ สถาบันวิจัยพืชสวน และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 พิษณุโลกได้เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ผ่านกิจกรรมการจัดนิทรรศการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิชาการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของกรมวิชาการเกษตร และการฝึกอบรม หลักสูตร การปลูกพืชแบบผสมผสานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนบนพื้นที่สูง โดยเน้นการปลูกไม้ผลเศรษฐกิจที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ เป็นที่ต้องการของตลาด มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผ่านแปลงศูนย์การเรียนรู้การผลิตมะคาเดเมีย อะโวคาโด และการผลิตกาแฟอะราบิกาแบบครบวงจร
ซึ่งพืชดังกล่าวมีความเหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่ และสามารถเป็นพืชทดแทนป่า ลดการพังทลายของหน้าดินในพื้นที่สูง ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้สรุปผลการดำเนินงานโครงการ ตั้งแต่ปี2560-2564 มีเกษตรกรที่ได้เข้ารับการอบรมตามหลักสูตรเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรแล้วกว่า361 ราย ได้แปลงขยายผลการปลูกมะคาเดเมีย เพิ่มขึ้น 89 แปลง รวมพื้นที่กว่า 167 ไร่ ส่วนผลการปลูกกาแฟอะราบิกา เพิ่มขึ้น 150 ครัวเรือน รวมเป็นพื้นที่ 1,200 ไร่ มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเข้าสู่มาตรฐาน GAP
เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และเกษตรกรแปลงต้นแบบการปลูกพืชผสมผสานมีต้นทุนการผลิต 54,200 บาท มีรายได้รวม 1,094,650 บาทต่อปี โดยเกษตรกรมีความพึงพอใจที่ได้รับองค์ความรู้และเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรสามารถนำมาปรับใช้ในการพัฒนาอาชีพกสิกรรมของตนเองและชุมชนในพื้นที่
การพัฒนาลุ่มน้ำพื้นที่ต้นน้ำ “น้ำหนาว” พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน สนองแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สามารถทำให้การผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ สร้างวิถีเกษตรกรรมที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ รวมทั้งเอื้อให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนา ต่อยอด เสนอความต้องการ บอกถึงปัญหา ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะเข้ามาช่วยพัฒนา แก้ไขปัญหา ถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นที่ต้นทุนที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เช่น ภูมิศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมประเพณี อัตลักษณ์พื้นถิ่น และร่วมแก้ไขปัญหาของเกษตรในพื้นที่สามารถปลูกพืชผสมผสาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน รักษาสภาพป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน