ชมดอกไม้บาน…เดือนตุลาคม”ขี้เหล็กฤๅษี”

พักเรื่องร้อนๆมาชมภาพสวยๆของดอกไม้ที่เบ่งบานในช่วงเดือนตุลาคมนี้”ขี้เหล็กฤๅษี” มีดีทั้งปลูกเป็นไม้ประดับเหมือนบอนไซ หรือนำมาปรุงอาหารกินเป็นยา

“ขี้เหล็กฤๅษี” หรือ ชื่ออื่นๆ : ขี้เหล็กฤๅษี (สระบุรี)  ไอ้เทา(เพชรบุรี) พระยางู, ว่านงู, มะยมเงินมะยม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus mirabilis Mull.Arg.

วงศ์ : Phyllanthaceae

พรรณไม้เขาหินปูนที่ออกดอกบานสะพรั่ง สะดุดตา มองเห็นได้ในระยะไกลในช่วงเดือนนี้ ไม่มีใครเกิน”ขี้เหล็กฤๅษี “ขี้เหล็กฤๅษี ขึ้นตามเขาหินปูนที่แห้งแล้ง ความสูงไม่เกิน 1000 เมตร สามารถพบได้บนเขาหินปูนทั่วประเทศ(ยกเว้นภาคใต้) เช่น เขาพระพุทธบาท เขาพระพุทธบาทน้อย จ.สระบุรี เขาตาง๊อกจ.สระแก้ว เขาชะองค์โอน จ.ชลบุรี ผานกเค้า จ.ขอนแก่น ผาหินงามหรือคุนหมิงเมืองไทย จ.เลย สามารถปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ โดยนำมาทำเป็นไม้ประดับกระถางคล้ายบอนไซได้

ลักษณะต้น เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ประมาณ 12 เมตร โคนต้นมักอวบน้ำ ลำต้นเกลี้ยงใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบรูปขอบขนาน ยาว 6.5-13 เซ็นติเมตร ปลายใบแหลม โคนรูปหัวใจ เบี้ยว ขอบใบเรียบแผ่นใบมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบ 10-12 คู่ ใบที่มีดอก(orthotropic shoot)มีขนาดใหญ่คล้ายเป็นช่อดอก ใบคล้ายใบประดับ รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาวได้ประมาณ 2 เซ็นติเมตร

ส่วนดอก ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่กระจุกเดียวกัน ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้มีหลายดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีปุ่มเล็กๆ คล้ายขน กลีบรูปรี ยาวประมาณ 0.3 ซม. ปลายแหลม มีรยางค์ยาว ก้านดอกยาว 0.1-0.2 ซม. 

จานฐานดอกเป็นต่อม 5 ต่อม รูปกระบอง เกสรเพศผู้ 6 อัน ก้านเกสรติดกันเป็นเกสรสั้นๆ อับเรณูยาว 0.6-0.8 มม. ปลายมีรยางค์ยาว ดอกเพศเมียมีดอกเดียว ก้านดอกยาว 0.2-0.3 ซม. กลีบเลี้ยง 6 กลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ 0.5 ซม. มีปุ่มคล้ายขน จานฐานดอกเป็นต่อม 6 ต่อม รูปกระบองแคบๆ ย่นเล็กน้อย ก้านเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรแยกเป็น 3 แฉกยาวประมาณ 0.1 ซม. แต่ละแฉกหยักลึก

สรรพคุณทางยาของขี้เหล็กฤาษี

  • ราก นำมาโคลกคั้นกินน้ำ เป็นยาถ่ายพยาธิและริดสีดวงงอกในทวาร
  • ใบ นำมาต้มอาบแก้โรคผิวหนัง หิด ผื่นคัน อมแก้ปวดฟัน
  • ใบ นำมาอังไฟ เอาน้ำหยดหู แก้โรคน้ำหนวกและปวดหู

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ(บางส่วน) : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช