กลุ่มนักวิจัยนานาชาติ นำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์ของจีน เปิดเผยว่ามหาสมุทรอาร์กติกกำลังมีความเป็นกรดรวดเร็วกว่ามหาสมุทรเปิดแห่งอื่นๆ ของโลก เนื่องจากการละลายของน้ำแข็งทะเล
ผลการศึกษาในวารสารไซเอนซ์ (Science) เมื่อวันศุกร์ (30 ก.ย.) ระบุว่า อัตราการเป็นกรดในมหาสมุทรอาร์กติกฝั่งตะวันตกนั้นเร็วกว่าในแอ่งมหาสมุทรอื่นๆ ราว 3-4 เท่า โดยการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์จากฝีมือมนุษย์ ส่งผลให้น้ำทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้นและแคลเซียมคาร์บอเนตอิ่มตัวน้อยลง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์ทะเลกรด” (ocean acidification)
ทีมวิจัยนำโดยคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยทะเลและขั้วโลกแห่งมหาวิทยาลัยจี๋เหม่ย ได้ทำการสังเคราะห์ข้อมูลคาร์บอเนตในมหาสมุทรจากการล่องเรือวิจัย 47 ครั้ง รอบมหาสมุทรอาร์กติกระหว่างปี 1994-2020 เพื่อตรวจสอบว่าวัฏจักรคาร์บอนของมหาสมุทรดังกล่าวนั้นตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร
ทีมวิจัยพบพื้นที่ส่วนใหญ่ของน้ำทะเลที่เคยถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งนั้นได้สัมผัสกับบรรยากาศ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการหดตัวของน้ำแข็งทะเล
โดยภาวะดังกล่าวกระตุ้นการดูดซึมคาร์บอนไดออกไซค์ในชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ความเป็นกรดของมหาสมุทร และความจุบัฟเฟอร์ (buffer capacity) ของมหาสมุทรลดต่ำลง
นอกจากนั้นทีมวิจัยคาดการณ์ว่าค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) จะลดลงอีก ณ ระดับละติจูดที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นระดับที่ยังคงเผชิญการหดตัวของน้ำแข็งทะเล พร้อมเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อรักษาระบบนิเวศของอาร์กติก
“ความเป็นกรดของมหาสมุทรสามารถส่งผลร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น หอยกาบ หอยแมลงภู่ และหอยสังข์ ซึ่งเป็นอาหารหลักสำหรับปลาแซลมอนและปลาเฮอริงอาร์กติก” ฉีตี้ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฯ และผู้เขียนงานวิจัยคนแรกกล่าว
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว (XinhuaThai)