กลืนไม่เข้าคายไม่ออก วิน-วินโมเดล ขึ้นราคา“บะหมี่ซอง”

อย่างที่ทราบกันว่า กรมการค้าภายในได้อนุมัติให้ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” หรือที่ชาวบ้านเรียกกัน “บะหมี่ซอง” ปรับขึ้นราคาได้ไม่เกิน 1 บาท หรือจากปกติซองละ 6 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 7 บาท จากที่ผู้ผลิตขอปรับขึ้นราคามา 2 บาท จาก 6 บาทเป็น 8 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา แต่ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน และห้าง ร้าน ยังมีสต๊อกเก่าเหลืออยู่ ก็ให้ขายในราคาเดิม คือ 6 บาทไปก่อน เพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้บริโภค

การปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี นับจากที่ปรับขึ้นราคาเป็น 6 บาท ตั้งแต่ปี 2550 และการปรับขึ้นราคาก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ผู้ผลิตต้องการ เพราะกระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายให้นำ “วิน-วินโมเดล” มาใช้ในการพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้าทุกรายการ คือ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันรับภาระ ไม่ใช่ให้ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งรับภาระแต่เพียงฝ่ายเดียว

62905afdee92c 1 1
วิน-วินโมเดล “บะหมี่ซอง”ขึ้นเป็น 7 บาท

ทั้งนี้หลังจากที่ผู้ประกอบการได้รวมตัวกันในนามผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ 5 ราย ได้แก่ มาม่า ไวไว ยำยำ ซื่อสัตย์ และนิชชิน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อกรมการค้าภายในอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา หลังจากที่แต่ละรายได้ใช้ความพยายามในการยื่นขอปรับขึ้นราคามานานแล้ว บางรายเกือบ 2 ปี โดยขอให้เร่งพิจารณาการปรับขึ้นราคาจากซองละ 6 บาทเป็น 8 บาทโดยเร็ว เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ เช่น ข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม ต้นทุนค่าแพกเกจจิ้ง ค่าพลังงาน ค่าขนส่ง และค่าแรงงาน

เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการได้ยื่นในครั้งนี้ คือ หากไม่พิจารณาให้ปรับขึ้นราคา ก็จำเป็นต้องหันไปส่งออกมากขึ้น เพราะปรับขึ้นราคาได้ และมีกำไรเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และอาจจะมีปัญหาการจำหน่ายในประเทศได้ เพราะขายไปขาดทุนไป ก็ไม่สามารถที่จะแบกรับภาระต่อไปได้

จากนั้น วันที่ 24 ส.ค.2565 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เชิญผู้ประกอบการที่ยื่นรายละเอียดต้นทุนมาครบถ้วนแล้ว 3 ราย คือ มาม่า ไวไว และยำยำ มาหารือกันอีกครั้ง และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาได้ โดยอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขนาดปกติได้ไม่เกินซองละ 1 บาท หรือสูงสุดไม่เกินซองละ 7 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.2565 เป็นต้นไป ส่วนรายการอื่นที่ขอมา ยังไม่อนุมัติให้ปรับขึ้น

นายวัฒนศักย์ บอกว่า ราคาที่ผู้ผลิตที่ยื่นขอมา 8 บาท ถือว่าสูงไป จึงอนุมัติให้ขึ้นได้ไม่เกิน 1 บาทต่อซอง หรือสูงสุดไม่เกินซองละ 7 บาท เพราะต้องคำนึงถึงประชาชนภายใต้นโยบาย วิน-วินโมเดล ที่ผู้ผลิตอยู่ได้ ผลิตต่อไปได้ และประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป

โดยในการอนุมัติให้ปรับขึ้นราคา กรมฯ ยังได้เพิ่มเงื่อนไขให้ผู้ผลิตปฏิบัติ คือ ถ้าต้นทุนวัตถุดิบลดลง ต้นทุนพลังงานลดลง ก็ต้องปรับลดราคาลงมา โดยจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ผลิตปรับลดราคาต่อไป ซึ่งหากในอนาคต มีกรณีนี้เกิดขึ้นจริงและกรมฯ ได้แจ้งผู้ผลิตไปแล้ว แต่ผู้ผลิตไม่ปรับลดราคาลง จะเป็นการเข้าข่ายขายสินค้าในราคาสูงกว่าที่ได้รับอนุญาตหรือขายแพงเกินสมควร มีโทษตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ม.26 และ 29

สำหรับผู้ผลิตอีก 2 รายที่เหลือ คือ นิชชิน และซื่อสัตย์ จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์เดียวกันนี้ โดยล่าสุดนิชชิน ได้ยื่นรายละเอียดต้นทุนเข้ามาครบถ้วนแล้ว กรมฯ จะพิจารณาต่อไป ส่วนซื่อสัตย์ ยังไม่ได้ยื่นรายละเอียดเข้ามา

ทางด้านตัวแทนผู้ผลิตนายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า บอกว่า หากมองในจุดที่ผู้ผลิตขอปรับขึ้นราคาไป 8 บาทต่อซอง ได้ปรับไม่เกิน 1 บาท หรือไม่เกิน 7 บาทต่อซอง ก็ถือว่าแย่ แต่ถ้ามองจากจุดที่ผู้ผลิตขอปรับขึ้นราคามา 18 เดือน ก็ถือว่าดี เพราะยังดีกว่าไม่ได้ปรับขึ้นราคาเลย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเข้าใจว่าภาครัฐ ต้องดูแลพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภาระค่าครองชีพที่จะเพิ่มขึ้น ถือว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ ซึ่งผู้ผลิต ก็ยอมรับได้ เพราะยังดีกว่าไม่ได้ปรับขึ้นราคาเลยจากที่ผ่านมา มาม่าขายเกือบขาดทุนบางรายต้องขายขาดทุนไปแล้ว

การปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในครั้งนี้ ไม่ได้ขึ้นแล้วขึ้นเลย เหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจน ถ้าต้นทุนลดลง ก็ต้องปรับลดราคาลงมาด้วย แต่ประเมิน ณ ตอนนี้ คงเป็นไปได้ยาก เพราะต้นทุนวัตถุดิบยังปรับตัวสูงขึ้นหรือทรงตัวไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม ค่าวัตถุดิบทำเครื่องปรุง ค่าแพกเกจจิ้ง ค่าพลังงาน ค่าขนส่ง และจะขึ้นค่าแรงอีก

ดังนั้น การที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นไปไม่เกินซองละ 7 บาท ไม่ขึ้นไปถึง 8 บาทตามที่ผู้ผลิตต้องการ ถือว่าเหมาะสม และยอมรับได้ เพราะเป็นการพบกันครึ่งทาง ที่ทุกฝ่ายต้องแบกรับภาระร่วมกัน ผู้ผลิตรับภาระส่วนหนึ่ง ผู้บริโภครับภาระส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ผลิตปรับขึ้นราคา จนไม่เหลียวแลผู้บริโภค หรือปล่อยให้ผู้บริโภครับภาระ จนไม่เหลียวแลผู้ผลิต หรือพูดได้ว่า วิน-วินโมเดล มาถูกที่ ถูกทางภายใต้สถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เช่นนี้

บทความจากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์