รายงานการวิเคราะห์ประจำเดือนสิงหาคม จากสำนักงานสังเกตการณ์ภัยแล้งยุโรป(EDO) เมื่อวันอังคาร(23 ส.ค.) เผยว่า ยุโรปกำลังเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบอย่างน้อย 500 ปี โดยมีพื้นที่อยู่ภายใต้สถานะเตือนภัยภัยแล้งราวร้อยละ 47 เนื่องจากขาดความชื้นในดินอย่างมาก ขณะร้อยละ 17 อยู่ภายใต้สถานะเฝ้าระวัง คิดรวมเป็นเกือบ 2 ใน 3 ของทวีป
รายงานระบุว่าภัยแล้งรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อหลายภูมิภาคของยุโรปตั้งแต่ต้นปี ขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงเมื่อนับถึงต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยภูมิภาคยุโรปตะวันตก-เมดิเตอร์เรเนียน มีแนวโน้มเผชิญอากาศอบอุ่นและแห้งกว่าปกติไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ทั้งทำให้การขนส่งภายในประเทศและการผลิตไฟฟ้าหยุดชะงัก และส่งผลให้ผลผลิตพืชบางชนิดลดน้อยลง
แถลงการณ์จากคณะกรรมาธิการยุโรป(EC) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งตอนนี้อาจรุนแรงที่สุดในรอบอย่างน้อย 500 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อพืชผลฤดูร้อนด้วย โดยมีการตั้งเป้าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี2022 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 16 ส่วนเป้าหมายผลผลิตถั่วเหลืองและทานตะวัน ลดต่ำร้อยละ 15 และร้อยละ 12 ตามลำดับ
การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเผชิญผลกระทบเช่นกัน โดยส่งผลต่อการดำเนินงานของผู้ผลิตไฟฟ้าหลายรายเนื่องจากการขาดแคลนน้ำสำหรับป้อนระบบหล่อเย็น ขณะระดับน้ำที่ลดต่ำได้ขัดขวางการขนส่งตามแนวแม่น้ำไรน์และที่อื่นๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการขนส่งถ่านหินและน้ำมัน
“ภัยแล้งและคลื่นความร้อนรุนแรงได้สร้างความกังวลเรื่องสถานการณ์ระดับน้ำในสหภาพยุโรปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตอนนี้เราพบฤดูเกิดไฟป่ามากกว่าค่าเฉลี่ย และผลกระทบวงกว้างที่มีต่อการผลิตพืชผลสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากขึ้นทุกปี” มารียา กาเบรียล กรรมาธิการด้านนวัตกรรมการวิจัย วัฒนธรรม การศึกษา และเยาวชน กล่าว
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว (XinhuaThai)