เปิดทิศทางตลาด”โปรตีนแมลงไทยสู่ออสเตรเลีย”ยังมีหวัง แต่ต้องเร่งพัฒนาอัตลักษณ์-มาตรฐานสินค้า 

การบริโภคแมลง ถูกนำมาพูดถึงมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะความกังวลเรื่องการขาดแคลนอาหารของมนุษย์ในอนาคต จากจำนวนประชากรโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันประชากรโลกอยู่ที่ 7,700 ล้านคนThe World Population Prospects 2019 คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,700 ล้านคนในปี 2050 และอาจเพิ่มเป็น 11,000 ล้านคนในปี 2100 ก่อความเสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหาร 

“แมลง”จึงกลายเป็นแหล่งอาหารทางเลือกที่สำคัญ

“ทีมข่าวเรื่องเล่าข่าวเกษตร”ได้พูดคุยกับ ดร.สมิท ธรรมเชื้อ อัครราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายเกษตร)ประจำกรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ถึงทิศทางการเปิดตลาดสินค้าจากแมลงในประเทศออสเตรเลีย ยังมีหวัง มีโอกาส มากน้อยเพียงใดสำหรับผู้ประกอบการไทย…

“ตลาดสินค้าโปรตีนจากแมลงในออสเตรเลีย ยังไม่นิยมหลากหลายและมีผลิตภัณฑ์ไม่มาก รวมถึงส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อเป็นอาหารสัตว์มากกว่าอาหารคน แต่ตลาดก็เติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยมีผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ให้ความสาคัญต่อสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อม มีทั้งกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่ถือเป็นผู้ขับเคลื่อนตลาดในปัจจุบัน”

6860586B 7BDA 49BC 8440 874D814C045A

จากการสำรวจเบื้องต้นในประเทศออสเตรเลีย มีฟาร์มเลี้ยงแมลง 14 ฟาร์มทั่วประเทศ โดย 10 ฟาร์ม เน้นการเลี้ยงแมลง โดยเฉพาะหนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly)เพื่อกําจัดขยะอินทรีย์ และดูดซับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ช่วยลดภาวะเรือนกระจก และเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ส่วนอีก 4 ฟาร์ม เป็นการเลี้ยงแมลงเพื่อการบริโภค

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีแมลงเป็นส่วนประกอบ ส่วนใหญ่จะวางจําหน่ายในร้านอาหารเพื่อสุขภาพ หรือโดยช่องทางออนไลน์ของผู้ผลิตเอง และแปรรูปมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น เช่น ผงโปรตีน ขนมปัง ไอศกรีม 

“ผู้ประกอบการไทย ก็ต้องศึกษาข้อมูลความชอบของคนออสเตรเลียก่อน เพราะส่วนใหญ่ไม่กินโปรตีนจากแมลง แบบเห็นเป็นตัวๆเหมือนเมืองไทย ดังนั้นต้องเน้นสินค้าที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแล้วและพัฒนาสินค้าให้มีแพคเกจจิ้งที่ทันสมัย เพราะภาพลักษณ์สินค้า ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเห็นเป็นอันดับแรก เพื่อให้คนออสเตรเลียเปิดใจหันมากินมากขึ้น”

ดร.สมิท ธรรมเชื้อ อัครราชทูตท่ีปรึกษา(ฝ่ายเกษตร)ประจำกรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ยังบอกด้วยว่า ผู้ประกอบการไทย ต้องเตรียมตัวศึกษาข้อมูลให้ดี โดยเฉพาะระเบียบและกฎหมายข้อบังคับของออสเตรเลีย เพื่อเป็นช่องทางในการส่งสินค้าไปเปิดตลาดได้ถูกต้องและไม่มีปัญหา เพราะในออสเตรเลียเอง ก็เริ่มมีผู้ประกอบการหันมาผลิตสินค้าจากแมลงเพิ่มมากขึ้น โดยนอกจากผลิตเป็นอาหารสัตว์แล้ว ยังทำเป็นเครื่องปรุง หรือผลิตภัณฑ์ประกอบอาหารคาวหวานหลายชนิด มีทั้งแป้งขนมปัง เส้นพาสต้า ลูกอม ไอศกรีม เป็นต้น

“ผู้ประกอบการไทยจะช้าไม่ได้…แม้ตลาดโปรตีนจากแมลงในออสเตรเลียจะจำกัดการอนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์จากแมลงเพียง 3 ชนิด แต่เค้าก็สนใจที่จะผลิตสินค้าประเภทนี้ ส่งออกไปขายต่างประเทศด้วยเช่นกัน…”

76C71DD7 85DC 4C74 9AAA 8AA2C170A895

Advisory Committee on Novel Foods(ACNF) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประเมินความเสี่ยงสินค้าแมลงและแมลง แปรรูปเพื่อการบริโภคที่จาหน่ายในออสเตรเลีย ระบุไว้ว่า สินค้าที่เกี่ยวข้องต้องเป็นไปตามมาตรฐาน Food Standards Australia & New Zealand หรือ FSANZ และได้ประเมินความเสี่ยงแมลงจำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ Zophobas morio (super mealworm) ,Achaeta domestica (house crickets),Tenebrio molitor (mealworm beetle)

โดยผลการประเมินความเสี่ยง ปรากฏว่า แมลงทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ สามารถบริโภคได้ แต่ไม่จัดว่าเป็นอาหารท้องถิ่น(Non-traditional Foods) และอาหารใหม่(Novel Foods)ของออสเตรเลีย

ขณะเดียวกันจากการสำรวจและวิเคราะห์ของ AgriFutures Australia ระบุว่า การเพาะเลี้ยงแมลงเพื่อการบริโภค แม้จะถือว่าเป็นอุตสาหกรรมใหม่ในออสเตรเลีย แต่ก็เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพพอสมควร 

2382DED1 5512 482F A8F3 5FDDFEA8191F

โดยเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า สูงถึง 10 ล้านเหรียญออสเตรเลียต่อปี โดยเฉพาะการผลิตเป็นอาหารในภาคปศุสัตว์ และมีแนวโน้มการเติบโตสูงในอนาคต เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตท่ีมีความยั่งยืน และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยท่ีสุด