อ.บ้านค่าย จ.ระยอง – ตามที่รัฐบาลสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยไม่สร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจ “การฟื้นฟูสีเขียว หรือ Green Recovery” ซึ่งเป็นแนวทางและมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเจริญเติบโตแบบยั่งยืน รวมทั้งสอดคล้องตามนโยบาย “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ “เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ” ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้การนำของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง ได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลทางด้านการเกษตร
จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เรียนรู้การจัดการโรคและแมลงในทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based): การจัดการทำแบบมาตรฐานจัดการศัตรูพืช (Standard Operating Procedure: SOP) โดยใช้ชีวภัณฑ์แบบผสมผสานในพืชเศรษฐกิจ ทุเรียน” ซึ่งได้รวบรวมองค์ความรู้เป็น SOP คู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อช่วยให้เกษตรกร ดูแลรักษาทุเรียนจากโรคและแมลงศัตรู โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าที่เป็นปัญหาร้ายแรง รวมถึงส่งเสริมให้ใช้ชีวภัณฑ์อย่างเหมาะสม ถูกวิธีและถูกเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ตามการระบาดของศัตรูพืช ช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีและลดปัญหาการตรวจพบสารเคมีตกค้าง ไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับทุเรียนสู่ตามมาตรฐานส่งออก โดยมีนางอุบล มากอง ผอ.สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผอ.ไบโอเทค และ น.ส.วรนุช สีแดง เกษตร จ.ระยอง ร่วมเปิดงาน พร้อมด้วย นายกฤษฎา ฉิมอินทร์ ผอ.ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จ.ชลบุรี ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รอง ผอ.ไบโอเทค และนักวิจัยไบโอเทค นำโดย ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน และทีมวิจัย ตลอดจนผู้นำชุมชมและเกษตรกรจำนวนมากเข้าร่วมในงาน
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเติบโตแบบยั่งยืนเป็นเป้าหมายสำคัญในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)ในการขับเคลื่อนภาคการเกษตร ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพสูงมาก ทั้งจุลินทรีย์ พืช และ สัตว์ โดยทางทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. ได้ทำการศึกษาความหลากหลายของสายพันธุ์จุลินทรีย์ มุ่งเน้นค้นหาและศึกษาความเป็นประโยชน์ของจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตร มุ่งเน้นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นชีวภัณฑ์ การย่อยสลายวัสดุเหลือทิ้งจากไร่นา และจุลินทรีย์การกระตุ้นการเจริญเติบโตและการดูดซับธาตุอาหารที่มีประสิทธิภาพ
ในปัจจุบันไบโอเทค สวทช. มีคลังจุลินทรีย์ของประเทศ (TBRC) ที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ของเอเชีย จากการวิจัยยาวนานกว่า 20 ปี ทำให้สามารถคัดกรองและคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช โรคและแมลงสำคัญในพืชเศรษฐกิจของประเทศ และผลักดันการใช้ประโยชน์ ชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น ราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) สำหรับควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไก่แจ้ แมลงหวี่ขาว ฯลฯ และราเมตาไรเซียม (Metarhizium) สำหรับควบคุมไรแดงชนิดต่าง ๆ ชีวภัณฑ์จากแบคทีเรียและราเพื่อควบคุมโรคพืช ได้แก่ ราไดรโคเดอร์มา (Trichoderma) ควบคุมราก่อโรคพืชต่าง ๆ เช่น โรครากเน่า-โคนเน่าจากเชื้อราไฟทอปธอร่า เป็นต้น ซึ่งชีวภัณฑ์เหล่านี้หากได้รับการส่งเสริมการใช้อย่างเหมาะสมไปสู่เกษตรกร จะเป็นการลดการใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ด้านนักวิจัย ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่าทีมวิจัยได้ทำการสำรวจโรคและแมลงศัตรูที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่จังหวัดระยอง และทดสอบประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์ในการจัดการสวนทุเรียน ทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการระบาดของโรคและแมลงสำคัญ เพื่อสร้างองค์ความรู้และกระบวนการจัดการปัญหาโรคและแมลงในสวนทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมีที่มีอันตราย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอินทรีย์หรือทุเรียนปลอดภัย และส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกร แรงงานไทยและต่างชาติ รวมถึงผู้บริโภค และลดการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตรสู่แหล่งน้ำหรือสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลเสียทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมสัตว์น้ำและการท่องเที่ยวด้วย พื้นที่สวนคุณสันติ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ทดสอบการใช้ชีวภัณฑ์ระดับแปลงและจัดทำเป็นแปลงสาธิตแสดงประสิทธิภาพของสารชีวภัณฑ์แก่ผู้ปลูกทุเรียน โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหา ยุติความสูญเสียจากการยืนต้นตายของต้นทุเรียน โดยทีมวิจัยได้ทำการสำรวจโรคและแมลงที่เป็นปัญหาในแปลง พูดคุยสร้างความเข้าใจและถ่ายทอดความรู้เรื่องชีวภัณฑ์กับคุณสันติและคุณพ่อ รวมไปถึงคนงานที่อยู่ในสวนอย่างใกล้ชิด
การทดสอบประสิทธิภาพของการใช้ชีวภัณฑ์แบ่งเป็นสามกรรมวิธี กรรมวิธีละ 1 ไร่ ประกอบด้วย กรรมวิธีใช้สารชีวภัณฑ์อย่างเดียวตามการระบาด กรรมวิธีผสมผสานชีวภัณฑ์และสารเคมี และกรรมวิธีดั้งเดิมตามแนวทางของเกษตรกรที่ใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียว โดยเริ่มการทดสอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-ปัจจุบัน พบว่า ชีวภัณฑ์มีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงศัตรูได้ดีหรือเทียบเท่าสารเคมี และยังพบการเพิ่มขึ้นของแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์ (แมลงดี) ในแปลงที่ใช้ชีวภัณฑ์และผสมผสานมากกว่าแปลงสารเคมี แสดงให้เห็นว่าการใช้ชีวภัณฑ์สามารถฟื้นคืนสมดุลธรรมชาติระบบนิเวศในสวนทุเรียนได้ดี ในด้านของโรคทุเรียน พบว่า ชีวภัณฑ์สามารถหยุดการตายของต้นทุเรียนได้ ต้นทุเรียนค่อย ๆ ฟื้นตัว ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้สนับสนุนให้คุณสันติฉีดพ่นไตรโคเดอร์มาแบบปูพรมทั้งสวน เพื่อลดความรุนแรงของเชื้อราไฟทอปธอร่า และไตรโคเดอร์มา ทั้งยังสามารถส่งเสริมความแข็งแรงของพืชได้อีกด้วย เมื่อพิจารณาด้านคุณภาพและปริมาณผลผลิต พบว่า การใช้ชีวภัณฑ์หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับสารเคมี ไม่ส่งผลเสียต่อรสชาติและคุณลักษณะภายนอกของผลทุเรียน และทุเรียนยังให้ผลผลิตใกล้เคียงกับการใช้สารเคมีคือ เฉลี่ย 43-57 ผล/ต้น”
ขณะที่เจ้าของสวนทุเรียน คุณสันติ จิรเสาวภาคย์ เกษตรกรผู้ปลุกทุเรียน เผยว่า สวนทุเรียนของตน เกิดประสบปัญหาต้นทุเรียนติดเชื้อรากเน่าโคนเน่าจากราไฟทอปธอร่าและพิเทียมที่รุนแรง ทำให้มีการยืนต้นตายของทุเรียนหลายสิบต้น เสียหายอย่างมากมาย ตนจึงได้ปรึกษาทางทีมวิจัยของไบโอเทค ซึ่งมีความรู้เรื่องชีวภัณฑ์ ได้ทำการทดสอบในสวนทุเรียนของตน โดยถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องโรคและแมลง และการจัดการสวนทุเรียน ผลลัพธ์ที่เห็นได้ทำให้มีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคแมลงในสวนทุเรียนมากขึ้น ปัจจุบันทางทีมวิจัยยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเก็บข้อมูลผลผลิตในอีกหนึ่งรอบการผลิต
“นอกจากทุเรียนแล้วทีมวิจัยฯ ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพในระดับแปลงในหลากพืชพันธุ์และหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย อาทิ โหระพาเพื่อการส่งออก จ.นครปฐม, กล้วยไม้เพื่อการส่งออกในกลุ่มผู้ผลิตกล้วยไม้ภาคกลาง-ตะวันตก, ถั่วฝักยาวและพริก จ.ราชบุรี, เมล่อน จ.พระนครศรีอยุธยา และมังคุด จ.จันทบุรี เป็นต้น โดยชีวภัณฑ์ที่ใช้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างไปจากสารเคมี นอกจากนั้น ทีมวิจัยได้ริเริ่มจัดทำระบบสนับสนุนการใช้ชีวภัณฑ์แบบ one stop service ที่เชื่อมต่อเกษตรกร นักวิชาการ และผู้ผลิตชีวภัณฑ์ รวมถึงเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลผู้ให้บริการตรวจสอบสภาพอากาศ เพื่อสร้างผู้ช่วยส่วนตัวของเกษตรกรในการวินิจฉัยโรคและแมลง แนะนำ SOP หรือมาตรฐานการปฏิบัติงาน ในแต่ละพืชและชีวภัณฑ์ที่เหมาะสม และเป็นที่รวบรวมผู้ผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานมาให้บริการเกษตรกร คาดการณ์ว่าจะสามารถเริ่มเปิดใช้งานได้ในปี 2567 โดยคาดหวังว่าระบบนี้จะสนับสนุนให้เกิดการใช้ชีวภัณฑ์เป็นวงกว้างและยั่งยืนได้ต่อไป” ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน นักวิจัยไบโอเทค กล่าวปิดท้าย
สำหรับเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องที่สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ไบโอเทค สวทช. โทร. 0 2564 6700 ต่อ 3378, 3364 อีเมล [email protected] เพจ Facebook: ชีวภัณฑ์ไบโอเทค เพื่อผักผลไม้ปลอดภัย และทาง X (Twitter): Green Crop Defender @GCD_Squad