ก.เกษตรฯ ไฟเขียว (ร่าง) แผนปฏิบัติการดิจิทัลของกระทรวงเกษตรฯ พ.ศ. 2566 – 2570 เดินหน้าสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล Digital Transformation

S 7192586
นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเทคโนโลยีดิจิทัลและกำกับดูแลข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ห้อง 134 – 135) โดยมีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ และมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม

S 7192592
ก.เกษตรฯ ไฟเขียว (ร่าง) แผนปฏิบัติการดิจิทัลของกระทรวงเกษตรฯ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการดิจิทัลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมีวิสัยทัศน์ ปฏิรูปการเกษตรของประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล คือ ยุคที่การผลิต การบริโภคสินค้า และผลิตภัณฑ์เกษตรของประเทศไทยสามารถสร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นใด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมาย ดังนี้ 1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรดิจิทัลและมีกระบวนการทำงานที่เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ (Digital Transformation) 2. ข้อมูลด้านการเกษตรมีความพร้อมใช้งาน น่าเชื่อถือ หน่วยงานในสังกัดสามารถเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สำหรับการบริหารและบริการประชาชน/เกษตรกร/ผู้ประกอบการ) (Data and Data Analytics) 3. ผู้รับบริการทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและได้รับบริการแบบดิจิทัลที่ตอบสนองต่อความต้องการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและอำนวยความสะดวก (e-Services) และ 4. บุคลากรและเกษตรกรมีทักษะดิจิทัลที่เหมาะสมและเท่าทันสถานการณ์ในยุคดิจิทัล (Digital Cultural and Skill) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่

S 7192594
ก.เกษตรฯ ไฟเขียว (ร่าง) แผนปฏิบัติการดิจิทัลของกระทรวงเกษตรฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน ดังนี้ ปรับปรุงกระบวนการทำงาน ศึกษาวิเคราะห์สถานะปัจจุบัน ขั้นตอนการดำเนินงาน ข้อมูล เทคโนโลยี และปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งออกแบบกระบวนการทำงาน กำหนดมาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานให้เป็นดิจิทัล การพัฒนาดิจิทัลเพื่อสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างระบบงาน พัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารจัดการภายในองค์กรที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ครอบคลุมกระบวนการทำงาน จัดให้มีมาตรการและเครื่องมือในการป้องกันหรือรับมือกับภัยคุกคาม ความเสี่ยงทางไซเบอร์ เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล รวมถึงการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาข้อมูลด้านการเกษตรให้เป็นเอกภาพและใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน ดังนี้ พัฒนา/ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ให้รองรับการเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ พัฒนาข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาล ข้อมูลภาครัฐ การบูรณาการข้อมูล และส่งเสริมการใช้งานข้อมูล Big Data เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย การดำเนินงาน กำกับติดตาม การบริหารจัดการ และการบริการภาครัฐ เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานหรือผ่านแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแบบอัตโนมัติตามมาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ จัดทำข้อมูลเปิดตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ และให้เป็นข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่นำไปวิเคราะห์หรือประมวลผลต่อได้ผ่านช่องทางดิจิทัล โดยสำรวจชุดข้อมูลภาครัฐที่ประชาชนต้องการให้มีการเปิดเผย เพื่อวางแผนในการจัดลำดับชุดข้อมูลเพื่อประกาศเผยแพร่ข้อมูลเปิดภาครัฐในชุดข้อมูลที่สำคัญเพื่อขยายผลต่อไป

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนางานบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน ดังนี้ 1. กำหนดหลักเกณฑ์ และรูปแบบที่เป็นไปได้ในการร่วมพัฒนาบริการดิจิทัลร่วมกับเอกชน พัฒนาและปรับปรุงบริการให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ที่ผู้รับบริการทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่าย และให้บริการได้ตลอดทั้งกระบวนการ พัฒนาบริการที่เฉพาะเจาะจงรายบุคคล (Personalize Service Delivery) ที่ให้บริการตอบสนอง ต่อผู้ใช้บริการอย่างแม่นยำ สอดคล้องกับสิทธิของผู้ใช้บริการที่มีอยู่ โดยผู้ใช้บริการไม่ต้องร้องขอหรือยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือและติดตามผล ปรับปรุงระบบบริการให้มีคุณสมบัติรองรับการรับความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากประชาชนหรือผู้ใช้บริการ รวมทั้งประเมินความพึงพอใจ และนำผลวิเคราะห์ไปพัฒนาการบริการ

และยุทธศาสตร์ที่ 4 เสริมสร้างกำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยมีแนวทางขับเคลื่อน ดังนี้ เสริมสร้างพฤติกรรมของบุคลากรให้มีวัฒนธรรมดิจิทัล ส่งเสริมให้ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงได้รับการพัฒนาทักษะผู้นำด้านดิจิทัล จัดทำแผนพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลให้บุคลากรมีความเชี่ยวชาญตามระดับที่เหมาะสม พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน และพัฒนาทักษะดิจิทัลของเกษตรกร เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างคุณค่าและผลิตภาพได้ทันการณ์

นอกจากนี้ที่ประชุม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเสนอโครงการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 และมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการดิจิทัลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อนำบรรจุลงในแผนปฏิบัติการดิจิทัลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังกล่าว และจะนำเรียนปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประยูร อินสกุล) เพื่อโปรดทราบและลงนามแจ้งเวียนแผนฯ ไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อไป พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนคำสั่งคณะกรรมการเทคโนโลยีดิจิทัล และกำกับดูแลข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย