ทุเรียน ราชาผลไม้ไทย ที่เป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่าส่งออกกว่าแสนล้าน ทำให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกทุเรียนกันในหลายพื้นที่ของประเทศไทย แต่การปลูกต้นทุเรียนของเกษตรกรไทยประสบปัญหาเรื่องการผลิต การดูแลรักษา การให้น้ำปุ๋ย การบังคับให้เกิดดอกและผลิตผล และเมื่อติดผลแล้วทำอย่างไรให้ติดผลผลิตมีคุณภาพสำหรับตลาดส่งออกทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการท้าทายไทย โครงการพัฒนาเกษตรไทยสู่ Smart Farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก)” ของ รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย เพื่อคิดค้นนวัตกรรมการให้น้ำทุเรียนแบบ Basin Fertigation และนวัตกรรมการสร้างระบบนิเวศชักนำรากลอย รวมถึงได้นำเทคโนโลยีลงไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรในหลายพื้นที่ในประเทศไทย ด้วย
รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย เปิดเผยว่า ได้นำนวัตกรรมการให้น้ำทุเรียนแบบ Basin Fertigation และนวัตกรรมการสร้างระบบนิเวศชักนำรากลอย มาถ่ายทอดให้กับ นายสุชาติ วงษ์สุเทพ เจ้าของสวนเกษตรไฮเปอร์ ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจาก 2 ปีที่แล้ว ต้นทุเรียนของสวนเกษตรไฮเปอร์ ประสบปัญหาใบโทรม ใบเล็ก ยอดทุเรียนแห้งเป็นก้านธูป บางแปลงมีโรครากเน่า โดนเน่า จึงนำนวัตกรรมดังกล่าวมาปรับใช้จนประสบความสำเร็จ ต้นทุเรียนฟื้นกลับมามีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคและแมลงได้ด้วยตัวเอง ไม่กลับมาเป็นโรคซ้ำ กิ่งแต่ละกิ่งสามารถแตกยอดได้ 3 ครั้งในหนึ่งปี เมื่อถึงเวลาออกดอกไม่ต้องกักน้ำและราดสารควบคุมการเจริญเติบโต ดอกสามารถออกมาเองเมื่อกระทบหนาวตามธรรมชาติและความสมบูรณ์ของต้น จากระบบนิเวศของรากที่พึ่งพา กับจุลินทรีย์ช่วยตรึงธาตุอาหาร เป็นผลให้สามารถลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเกษตรจากเดิมเหลือแค่ไม่เกินราคาฟางแห้งก้อนเดียว
คณะวิจัยได้ปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำกับต้นทุเรียนจากเดิมที่ให้น้ำตอนกลางคืนมาเป็นแบบ Basin Fertigationโดยแบ่งการให้น้ำออกเป็นสามช่วงในแต่ละวัน ช่วงเช้าก่อน 8.00 น. ให้น้ำเต็มความสามารถอุ้มน้ำของดิน พืชสามารถดึงน้ำและธาตุหลักและธาตุรองเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงได้ โดยไม่เกิดแสดงการขาดธาตุที่จำเป็น ช่วงที่สองเวลา 11.00-12.00 น. เป็นเวลาที่ทุเรียนและไม้ผลทั่วไปที่ปลูกในแปลงแบบไม่ยกร่องสวน มักหยุดการสังเคราะห์แสงและเป็นช่วงที่น้ำในระบบน้ำใต้ดินและระบบน้ำในแถบลุ่มน้ำมีน้ำขึ้นน้ำลงสูงสุดในช่วงวัน จึงมีการให้น้ำช่วงนี้ตามน้ำขึ้นน้ำลงจากอิทธิพลของดวงจันทร์เป็นช่วงที่ทำให้ทุเรียนสร้างกลิ่นหอมดอกไม้เฉพาะตัวออกมา ช่วงที่สามเวลา 13.00 และ 14.00 น.ช่วงนี้ในพื้นที่ปลูกแบบไม่ยกรองสวนทุเรียนจะปิดปากใบเช่นกัน ต่อไปจนแสงสุดท้ายประมาณ 16.00 น. ซึ่งภาพรวมทำให้ทุเรียนสามารถสังเคราะห์แสงได้นาน 6-8 ชั่วโมง และพบว่าทุเรียนหมอนทองที่อายุ 90 วันหลังผสมเกสรแล้ว (หางแย้) มีน้ำหนักแห้งของเนื้อ (DM) ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 34.98 และเมื่ออายุ 115 วัน มีค่า DM เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 39.94 เนื้อทุเรียนหมอนทองและพันธุ์อื่นๆ เนื้อแห้ง ไม่เป็นไส้ซึม เต่าเผา เนื้อที่เหนียวเนียนละเอียดเป็นครีมคล้ายชีทเค้ก เนื้อมีกลิ่นหอมดอกไม้เฉพาะตัว เส้นใยละลายน้ำได้ทั้งหมด ไม่มีเส้นใยติดฟันเวลาบริโภค เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก ถึงกับต้องจองข้ามปี
โครงการดังกล่าวได้ประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการวช. มอบหมายให้ นายชาญณรงค์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ วช. นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ Smart Farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก)” ณ สวนเกษตรไฮเปอร์ ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อให้สื่อมวลชนได้ทราบถึงผลสำเร็จของงานวิจัยดังกล่าว และได้พบปะกับนักวิจัย โดยเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัยและกิจกรรมของ วช. ไปสู่สาธารณชนและผู้ใช้ประโยชน์ต่อไป การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากเกษตรกร เจ้าของสวนทุเรียนจากทั่วทุกภูมิภาค เข้าชมสวนเกษตรไฮเปอร์ เป็นจำนวนมาก เพื่อศึกษาดูงานระบบจัดการน้ำภายในสวน