ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ติดตามการดำเนินงานโครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในการผลิตสับปะรดผลสด” ณ แปลงเรียนรู้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งภายใต้โครงการจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะที่สถาบันวิจัยพืชสวน สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี ดำเนินการร่วมกันในปีงบประมาณ 2566-2567 เพื่อสร้างแปลงต้นแบบ (Model) ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4.0
จากผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการน้ำ ปุ๋ย และเครื่องจักรกลเกษตรสำหรับผลิตสับปะรดผลสด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในการผลิตสับปะรดผลสดคุณภาพสู่เกษตรกร และกลุ่มเกษตรกร
สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะมีจำนวนทั้งหมด 4 เทคโนโลยี ได้แก่
1. เซนเซอร์วัดน้ำฝนอัจฉริยะ เพื่อควบคุมการให้น้ำพืชอัตโนมัติ โดยใช้ถังวัดน้ำฝนหักล้างกับการระเหยสะสม ซึ่งจะมีเซนเซอร์วัดว่าน้ำในถังว่าแห้งหรือไม่ ถ้าน้ำในถังวัดน้ำฝนแห้ง สมองกลฝังตัวจะสั่งให้น้ำตามปกติ แต่ถ้าในถังวัดน้ำฝนมีน้ำ สมองกลก็จะสั่งงดให้น้ำ โดยเลือกใช้สมองกลฝังตัว Arduino และเขียนโปรแกรมควบคุมด้วยภาษาแบบกราฟฟิก ทำให้ง่ายต่อเกษตรกรในการพัฒนาต่อยอด
2. เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับเพื่อการสํารวจและติดตามการเจริญเติบโตของสับปะรด โดยดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน บริษัท สกาย วีไอวี จำกัด ในการบินสำรวจแปลงสับปะรดเพื่อติดตามการเจริญเติบโต และการเป็นโรคเหี่ยวสับปะรด จึงต้องมีการสำรวจแปลงสับปะรดและทำการป้องกันกำจัดโรคและแมลง ตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อพบความผิดปกติ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความสูญเสียผลผลิตถึงระดับเศรษฐกิจโดยวางแผนกำหนดการบินโดรนตามช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของพืช เริ่มตั้งแต่หลังปลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จนถึงก่อนเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนเมษายน 2567
3. การให้น้ำและปุ๋ยตามความต้องการของสับปะรด โดยการคํานวณหาปริมาณการใช้น้ำของพืชจริง การให้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ดิน ซึ่งจากการวิเคราะห์ดินพื้นที่แปลงเรียนรู้พบว่าดินมีสภาพเป็นกรดเล็กน้อย มีปริมาณอินทรียวัตถุระดับต่ำมาก ปริมาณฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมในระดับต่ำ จึงแนะนำให้ใช้ปุ๋ยเชิงเดี่ยวผสมเอง โดยให้ปุ๋ยสูตร 18-46-0, 46-0-0 และ 0-0-60 อัตรา 37, 147 และ 113 กก./ไร่/ปีตามลำดับ ซึ่งในแปลงเรียนรู้จัดการปุ๋ยโดยให้ปุ๋ยรองพื้นสูตร 18-46-0 อัตรา 37 กก./ไร่/ปี และ 0-0-60 อัตรา 13 กก./ไร่/ปี พร้อมกับการยกแปลงปลูก และปุ๋ยสูตร 46-0-0 และ 0-0-60 ส่วนที่เหลือจากการรองพื้นแบ่งพ่นทางใบเดือนละ 1 ครั้ง ถึงระยะก่อนการบังคับออกดอก
4. การปรับระบบการปลูกเพื่อใช้เครื่องจักรกลเกษตร โดยวางผังปลูกใหม่ตามแนวยาวเพื่อใช้เครื่องจักรกลเกษตร มีถนนรอบแปลง และแบ่งแปลงการปลูก หน้ากว้าง 12 เมตร เพื่อให้ใช้เครื่องจักรกลแบบมีแขนยื่นขนาด 6 เมตรได้ เช่น เครื่องพ่นสารชนิดแขนพ่นเพื่อจัดการวัชพืช โรคแมลง และให้ปุ๋ยในแปลงสับปะรด ซึ่งสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ได้พัฒนาเครื่องพ่นสารแบบปรับอัตราฉีดพ่นอัตโนมัติสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับอัตราฉีดพ่นต่างๆที่ต้องการได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนหัวฉีด นอกจากนี้ยังใช้เครื่องลำเลียงผลสับปะรดเพื่อให้การเก็บเกี่ยวรวดเร็วขึ้น ซึ่งสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมได้พัฒนาเครื่องลำเลียงผลสับปะรด สามารถใช้ในแปลงสับปะรด ซึ่งวางผังปลูกสับปะรดตามแนวยาวขนานกับถนนในแปลง คนเก็บสับปะรดสามารถเดินไปตามร่องปลูกตามการเคลื่อนที่ของรถแทรกเตอร์ได้ มีความสามารถการทำงานเฉลี่ย 2.10 ไร่/ชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าการใช้แรงงานคนเก็บผลสับปะรด 2.6 เท่า
“ความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในการผลิตสับปะรดผลสดขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมแปลงและยกร่องปลูกแล้วพื้นที่รวม 3 ไร่ และดำเนินการติดตั้งระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ ติดตั้งตู้ควบคุมและเซนเซอร์วัดน้ำฝนอัจฉริยะ คาดว่าในปี 2567 จะได้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบให้น้ำอัตโนมัติ และให้ปุ๋ยตามความต้องการของพืช และเกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิตตามความต้องการของพืช ลดการสูญเสียปัจจัยการผลิต และเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต
รวมทั้งระบบการปลูกสับปะรดโดยใช้เครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลดปัญหาต้นทุนการผลิตเรื่องแรงงานได้ โดยกลุ่มเป้าหมายที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่สับปะรด จ.เพชรบุรี บริษัท และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการแปลงผลิตสับปะรดมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความสนใจในด้านนี้สามารถนำไปต่อยอดในการวิจัยได้ต่อไป” รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว