วันที่ 10 ธันวาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ ภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และ เครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแกะแห่งประเทศไทย (ค.พ.ท.) จัดเสวนาทางวิชาการ อนาคตและทิศทางการส่งออกอุตสาหกรรมการเลี้ยงแพะ ในงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 10 ในครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ พร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการผลิตแพะของประเทศไทย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี นาพรพม คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับและผู้ช่วย ศ. ดร.ทศพล มูลมณี หัวหน้าภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ฯ ณ NSP Rice Grain Auditorium อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บรรยายพิเศษเรื่อง การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการผลิตแพะของประเทศไทย ว่า วช. มุ่งขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านสัตว์เศรษฐกิจเพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ และเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงแพะ แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมและมีการเลี้ยงมากขึ้นทุกปี เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีขนาดเล็ก เลี้ยงง่าย ให้ผลตอบแทนได้รวดเร็ว ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากแพะ ทั้งเนื้อแพะและน้ำนมแพะ มีการขยายตัวมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ความต้องการมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตแพะไม่เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งมีการส่งออกผ่านประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถผลิตได้ประมาณ 7-8 แสนตัว ต่อปี แต่ความต้องการอยู่ที่ประมาณ 1.2 – 1.5 ล้านตัว ต่อปี
วช. เล็งเห็นความต้องการแพะจึงสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมภายใต้กลุ่มเรื่องการเพิ่มมูลค่าแพะเชิงเศรษฐกิจ ให้แก่เครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงแพะ รวมถึงให้มหาวิทยาลัยช่วยให้ผู้เลี้ยงแพะได้รับความรู้ในด้านการปรับปรุงพันธุ์แพะ ด้านพืชอาหารสัตว์ อาหารแพะ ด้านสุขภาพและมาตรฐานฟาร์ม ด้านผสมเทียม ด้านการแปรรูป และเพิ่มมูลค่าผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดคือจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเพิ่มขึ้นจาก 60,000 คน เป็น 80,000 คน การเพิ่มขึ้นของจำนวนแพะทั้งประเทศจากประมาณ 800,000 ตัว เป็น 1,600,000 ตัว
ภายใน 3 ปี วช. คาดว่าแพะจะเพียงพอกับความต้องการในประเทศและการส่งออก เนื่องจากมีการกระจายน้ำเชื้อแพะพันธุ์ดีผ่านน้ำเชื้อแช่แข็งและการผสมเทียม โดยได้ลูกที่เกิดจากการผสมเทียม 1,000 ตัวต่อปี ทำให้เกษตรกรมีแพะพันธุ์ดีกระจายออกไป เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น เกิดนวัตกรรมในการผลิตอาหารคุณภาพ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อและนม อาทิ ครีมบำรุง น้ำหอมจากขนแพะ และมีโรงงานแปรรูปน้ำนมแพะมาตรฐาน GMP ด้วย
การเสวนาทางวิชาการ ในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ ต่อประเด็นอนาคตและทิศทางการส่งออกอุตสาหกรรมการเลี้ยงแพะ มีผู้ร่วมเสวนาฯ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์, ศาสตราจารย์ ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์, ดร.แสนศักดิ์ นาคะวิสุทธิ์, ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. นายวีระศักดิ์ เนตรเกื้อกูล ประธานเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแกะแห่งประเทศไทย, นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์ชมภู กรรมการผู้จัดการ หจก. ป.ณวริศ ฟาร์ม ตัวแทนเกษตรกรผู้รวบรวมแพะแกะในพื้นที่ และนายวิเชษฐ์ ฟักแฟง รองประธานเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแกะแห่งประเทศไทย
นอกจากเสวนาทางวิชาการฯ วช. ได้ร่วมจัดกิจกรรมการประกวดแพะ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในวันที่ 11 ธันวาคม 2565 เวทีการประกวดแพะ ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โซน 5 ฝ่ายประกวดสัตว์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัตว์เลี้ยงสำหรับชาวเกษตรกรอย่าง “แพะ” ปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก สาเหตุหลักมาจากมีสายพันธุ์ให้เลือกเลี้ยงได้หลากหลาย อย่างไรก็ตามสัตว์ชนิดนี้ยังถือเป็นของใหม่สำหรับคนไทยจำนวนมาก
การเลี้ยงแพะ นั้น จะมีระยะเวลาสั้นกว่าการเลี้ยงวัว โดยแพะเป็นสัตว์ที่หากินเองเก่งมาก ทนต่อทุกสภาพอากาศได้ดี ไม่ว่าจะร้อน ฝน หรือหนาวก็อยู่ได้หมด ผลผลิตแทบจะใช้ได้ทั้งตัวอย่าง นม เนื้อ หนัง หรือขน การเลี้ยงง่ายมากเนื่องจากเป็นสัตว์ตัวเล็ก ดูแลจัดการง่าย ใช้พื้นที่ไม่เยอะ โดยทั่วไปจะมีสายพันธุ์แพะอยู่ 7 พันธุ์ คือ
–แพะพันธุ์แองโกลนูเบียน สามารถให้ได้ทั้งเนื้อและนม มีหลายสีใน 1 ตัว สันจมูกลักษณะโค้ง ใบหูยาว
-แพะพันธุ์พื้นเมือง เป็นพันธุ์ที่มีหลายสีทั้ง น้ำตาล ดำ หรือน้ำตาลสลับดำ เมื่อโตเต็มที่เพศเมียจะมีปุ่มหน้าขาสูงกว่าเพศผู้โดยอยู่ที่ 48.5 ซม.
–แพะพันธุ์ซาเนน เป็นแพะที่จัดอยู่ในพันธุ์นม หูใบเล็กตั้งตรง มีลำตัวขนเป็นสีขาว
–แพะพันธุ์บอร์ เป็นแพะเนื้อที่ขนาดใหญ่มาก ลำตัวขาว แต่ที่คอและหัวจะมีสีแดง
–แพะพันธุ์ทอกเก็นเบิร์ก จัดอยู่ในแพะนมที่มีใบหูตั้ง สีช็อกโกแลต หน้าตรง และข้างแก้มจะมีแถบสีขาว
–แพะพันธุ์อัลไพน์ เป็นอีกแพะพันธุ์นมที่ขนสีดำ หรือน้ำตาล คล้ายพันธุ์ทอกเก็นเบิร์กเพราะมีหน้าตรง ใบหูเล็กตั้ง และข้างแก้มก็เป็นแถบสีขาว
–แพะพันธุ์หลาวซาน: เป็นพันธุ์นมที่มีตัวสีขาว หน้าตรง และใบหูเล็กตั้ง คล้ายกับพันธุ์ซาเนน
อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าแพะเลี้ยงสามารถแบ่งออกได้หลัก ๆ 2 ประเภท ได้แก่ แพะเนื้อ กับแพะนม ซึ่งทั้ง 2 จะมีความแตกต่างกันอยู่คือ
1.แพะเนื้อ
เมื่อมีการเทียบกับสัตว์เคี้ยวเอื้องประเภทอื่น เช่น โค หรือแกะ แพะถือว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากที่สุด โปรตีนย่อยได้ง่ายและไวกว่า ส่วนเนื้อที่เป็นลูกแพะอายุก่อนหย่านมมีน้ำหนัก 6 – 8 กิโลกรัม จะรสชาติดีมาก ซึ่งโอกาสจับขายจะมีอายุตั้งแต่ 5 – 6 เดือน รวมน้ำหนักได้ที่ 25 กิโลกรัม
2.แพะนม
เป็นสายพันธุ์ที่มีคุณค่าทางอาการใกล้เคียงกับนมวัว แต่โดดเด่นมากกว่าคือนมแพะจะย่อยง่าย ไขมันกระจายตัวได้ดีเพราะเม็ดไขมันมีขนาดเล็กกว่า ทำให้ร่างกายคนสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ดีมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีกรดไขมันที่น่าสนใจ อย่างกรด Caprylic, Capric และ Caproic ช่วยรักษาอาการภาวะดูดซึมสารอาหารบกพร่อง และกรดอะมิโนจำเป็นอย่าง Aspartic acid, Histidine, Phenylalanine ที่ช่วยบำรุงกระดูกของผู้สูงวัย ผู้ป่วย หรือผู้ที่แพ้นมวัว