“Aqua-IoT” นวัตกรรมดูแลสัตว์น้ำเพื่อเกษตรกรไทย

อุตสาหกรรมสัตว์น้ำเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศไทย

อย่างไรก็ตามการที่อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้จำเป็นต้องอาศัยความเข้มแข็งในการผลิต ทั้งความเชี่ยวชาญของเกษตรกร รวมไปถึงการพัฒนายกระดับเทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำให้สอดรับกับยุคเกษตร 4.0 เพื่อให้ไทยพร้อมรับความท้าทายและโอกาสในการแข่งขันในระดับโลกมากยิ่งขึ้น

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมยกระดับอุตสาหกรรมสัตว์น้ำไทยอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาระบบติดตามแจ้งเตือนสภาพบ่อเพาะเลี้ยงทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพด้วยเทคโนโลยี IoT หรือเรียกในที่นี้ว่า “Aqua IoT”

ดร.ศุภนิจ พรธีระภัทร นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล (DAT) เนคเทค สวทช. กล่าวว่า หลังจากเกิดปัญหาโรคระบาดในสัตว์น้ำครั้งใหญ่ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อเกษตรกรและภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในปี 2553 เนคเทคได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาร่วมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ผ่านโครงการพัฒนา ‘ระบบและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับสัตว์น้ำ (GII)’ ซึ่งนักวิจัยได้พัฒนาอุปกรณ์เฝ้าระวังความเสี่ยงในการเพาะเลี้ยงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และในปี 2563 ได้ขยายผลสู่ ‘โครงการยกระดับผู้ประกอบการสัตว์น้ำด้วยระบบตรวจสอบสภาพบ่อเพาะเลี้ยงทั้งกายภาพ เคมี และชีวภาพ ด้วยเทคโนโลยี IoT (Aqua-IoT) ในพื้นที่ภาคตะวันออก’ ซึ่งดำเนินงานเสร็จสิ้นแล้วเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา

จุดแข็งสำคัญของเทคโนโลยี Aqua-IoT ที่เนคเทคและศูนย์วิจัยแห่งชาติภายใต้ สวทช. ร่วมกันพัฒนาขึ้น คือการรวบรวมข้อมูลจากอุปกรณ์เฝ้าระวังความเสี่ยงในการเพาะเลี้ยง ทั้งจากสภาพน้ำ อากาศ รวมถึงสารเคมีและจุลินทรีย์ ไว้ในฐานข้อมูล (Dashboard) เดียว เพื่อให้เกษตรกรเห็นถึงความเชื่อมโยงของข้อมูล วิเคราะห์ผลง่าย และแก้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างทันกาล

ดร.ศุภนิจ อธิบายว่า ภายในชุดเทคโนโลยี Aqua-IoT ประกอบด้วยเทคโนโลยีหลัก 4 อย่าง เทคโนโลยีแรกคือระบบตรวจวัดสภาพน้ำและอากาศ ระบบตรวจวัดสภาพน้ำจะตรวจวัดอุณหภูมิ ค่าความเป็นกรด-ด่าง และค่าออกซิเจนละลายในน้ำ ส่วนระบบตรวจวัดสภาพอากาศจะตรวจวัดทิศทางและความเร็วลม ปริมาณแสง และปริมาณน้ำฝน ซึ่งข้อมูลภาพรวมจากระบบนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการคำนวณการเปิด-ปิดระบบตีน้ำและปริมาณอาหารที่เหมาะสม

bcg delight aqua iot 1
ระบบตรวจวัดสภาพน้ำและอากาศ

เทคโนโลยีที่สอง คือ ระบบกล้องตรวจจุลชีวะขนาดเล็กในน้ำ สำหรับตรวจสอบการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำในวัยอนุบาลและปรสิต เทคโนโลยีที่สามคือระบบอ่านค่าสารเคมีแทนการดูด้วยตาสำหรับตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยง ใช้แปลผลการตรวจจากชุดตรวจสารเคมี ได้แก่ ไนไตรต์ แอมโมเนีย คลอรีน ฟอสเฟต และค่ากรด-ด่าง เพื่อลดความผิดพลาดในการแปลผลด้วยวิธีปกติ ซึ่งใช้การเทียบสีที่ปรากฏบนชุดตรวจด้วยตาเปล่า

bcg delight aqua iot 2
ระบบกล้องตรวจจุลชีวะขนาดเล็กในน้ำ

เทคโนโลยีหลักสุดท้ายคือระบบตรวจรูปแบบของจุลินทรีย์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สำหรับตรวจสอบจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และโทษ เพื่อนำข้อมูลไปปรับปริมาณจุลินทรีย์ในบ่อให้เหมาะสม โดยทีมวิจัยได้ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. นำชุดตรวจเชื้อก่อโรคทั้งในกุ้งและปลามาบูรณาการนำผลการตรวจเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลออนไลน์แบบอัตโนมัติด้วย เพื่อให้เกษตรกรตรวจสอบข้อมูลจากทุกอุปกรณ์และชุดตรวจได้ง่ายจากทุกที่ทุกเวลา ผ่านเว็บเบราว์เซอร์และระบบแจ้งเตือนทุกเช้า-เย็น ทางไลน์แชตบอต”

bcg delight aqua iot 3 1
ระบบอ่านค่าสารเคมีแทนการดูด้วยตาสำหรับตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยง
 

ปัจจุบันทีมวิจัยได้ถ่ายทอดชุดเทคโนโลยี Aqua-IoT ให้แก่บริษัทเอกชนเรียบร้อยแล้ว ค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบ Aqua-IoT อยู่ที่ประมาณ 200,000 บาทต่อบ่อ ซึ่งหากเทียบกับผลกำไรที่ได้จากการเพาะเลี้ยง การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและอาหารสัตว์ รวมถึงการลดความเสี่ยงในการสูญเสียผลผลิตจากการติดเชื้อหรือความไม่สมดุลในระบบเพาะเลี้ยง ถือว่าคุ้มค่าสูง และคืนทุนได้ตั้งแต่รอบการผลิตแรก

bcg delight aqua iot 12
ระบบตรวจรูปแบบของจุลินทรีย์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ดร.ศุภนิจ เสริมว่า นอกจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว ทีมวิจัยและผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยียังให้ความสำคัญเรื่องการขยายผลสู่การใช้งานจริง โดยในปี 2563 ได้ร่วมกันนำร่องถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์อุปกรณ์อย่างคุ้มค่า ให้แก่เกษตรกรในภาคตะวันออก ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานทีมงานได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำการทำงาน และร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกษตรกรต้องเผชิญ เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งมากพอที่จะยกระดับการทำเกษตรของตนเองได้อย่างยั่งยืน

การได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดทำให้นักวิจัยได้ทราบถึงปัญหาและความต้องการของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น ข้อมูลเชิงลึกเหล่านั้นนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง ตัวอย่างเทคโนโลยีที่นักวิจัยกำลังพัฒนา เช่น เครื่องนับจำนวนลูกกุ้งแบบอัตโนมัติเพื่อควบคุมความหนาแน่นของกุ้งในบ่อเลี้ยง เครื่องยกยอเพื่อคำนวณปริมาณกุ้งในบ่อแบบอัตโนมัติสำหรับคำนวณปริมาณอาหารให้เหมาะสม ลดการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ และรักษาคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยง

ดร.ศุภนิจ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ทีมวิจัยอยากสื่อสารไปยังเกษตรกร คือ อยากให้ทุกคนกล้าใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการยกระดับการทำเกษตรของตน และกล้าที่จะคิดว่าปัจจุบันยังขาดเทคโนโลยีอะไรที่จะช่วยให้การทำการเกษตรของตนมีประสิทธิภาพขึ้นได้ เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรายอื่นๆ ด้วย การที่เกษตรกรทุกคนเลี้ยงได้รอดทุกบ่อ ทุกฤดูการผลิต ถือเป็นความหวังสูงสุดในการนำพาประเทศไทยหวนคืนสู่การเป็นผู้ส่งออกสัตว์น้ำอันดับต้นของโลกอีกครั้ง

นอกจากเสียงบอกเล่าด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีของนักวิจัย ในส่วนของเกษตรกรผู้มีประสบการณ์การใช้งาน Aqua-IoT ได้สะท้อนถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้เอาไว้อย่างน่าประทับใจเช่นกัน

อุดร ส่งเสริม เจ้าของวศินฟาร์ม จังหวัดระยอง เล่าว่า ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดที่สุดในการนำ Aqua-IoT มาใช้ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งของตน คือ การประหยัดเวลาในการทำงาน ไม่ต้องคอยเฝ้าระวังที่หน้าบ่ออยู่ตลอดเหมือนแต่ก่อน แม้ตอนนี้จะเริ่มต้นลงทุนที่ 1 บ่อ แต่ข้อมูลจากบ่อหนึ่งก็สามารถนำไปปรับใช้กับบ่ออื่นๆ รวมถึงกับฟาร์มอื่นที่อยู่ในละแวกเดียวกันได้ โดยเฉพาะเรื่องอุณหภูมิของน้ำซึ่งส่งผลโดยตรงต่อค่าออกซิเจนละลายน้ำ ทำให้จากที่เคยต้องเปิดเครื่องตีน้ำเต็มกำลัง เหลือเปิดเฉพาะช่วงที่ค่าออกซิเจนลดลงเท่านั้น ทำให้ประหยัดค่าไฟลงได้มาก นอกจากนี้การที่เราทราบถึงค่าความผิดปกติของสารเคมีในน้ำหรือการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่ม จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการยับยั้งความเสียหาย เพราะหากสัตว์น้ำตายยกบ่อ สิ่งที่เสียไปไม่ใช่แค่ต้นทุนที่ลงไป แต่ยังสูญเสียกำไร เวลา และโอกาสทางการตลาดอีกด้วย