ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย น.ส.สุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการ อว. และ น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัด อว.ลงพื้นที่เยี่ยมชมโอโซนฟาร์ม อ.แม่จัน จ.เชียงราย
โดยมี พิเชษฐ กันทะวงค์ กรรมการผู้จัดการโอโซนฟาร์มซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) นำเยี่ยมชมพื้นที่ 8 ไร่ ซึ่งประกอบด้วยโรงเรือน 18 หลัง แต่ละโรงเรือนจะปลูกเมล่อน มะเขือเทศ ผ่านระบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารที่นำผลผลิตจากฟาร์มมาปรุงจำหน่าย โดยผลผลิตทั้งหมดของโอโซนฟาร์มเป็นออร์แกนิกส์และปลอดสารพิษ
นายพิเชษฐ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เข้ามาช่วยโอโซนฟาร์ม โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาทำเรื่องของเมล่อนที่ให้มีรสชาติหวาน ทำเป็นฟรีซดราย (เป็นกระบวนการถนอมอาหารที่ดีที่สุดในปัจจุบัน โดยเป็นการกำจัดความชื้นออกจากอาหาร (dehydrate) ด้วยการแช่เยือกแข็ง (freezig) ซึ่งไม่ผ่านกระบวนการที่อุณหภูมิสูงเกินไปและสามารถรักษาโครงสร้างผลิตภัณฑ์ได้ดี ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณภาพสูง ) แปรรูปส่งตลาดได้
รวมทั้งการใช้ระบบให้อาหารพืชที่ปลูกในโรงเรือนแบบแม่นยำ สามารถลดต้นทุนได้ และยังจัดทำระบบเครื่องจ่ายปุ๋ยผ่านโทรศัพท์มือถือที่สามารถควบคุมได้ ทำให้ผลผลิตในโอโซนฟาร์มมีคุณภาพ เป็นการพลิกโฉมการทำเกษตรแบบใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะหาองค์ความรู้แบบนี้มาจากแหล่งใด
“ที่สำคัญ ขณะนี้เกษตรกรรุ่นใหม่ใน จ.เชียงราย หรือที่เรียกว่า Young Smart Farmer มีสมาชิกถึง 120 คน ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทยที่ทำการเกษตรแบบใหม่ ซึ่งทำแล้วสนุกและได้ประโยชน์มากขึ้น สามารถนำผลิตผลทางการเกษตรไปแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง เป็นเซรั่ม หรือแม้กระทั่งการออกแบบแพ็คเกจจิ้งใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรได้โดยผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์แม่ฟ้าหลวง และไม่ต้องทำการเกษตรแบบลองผิดลองถูกอีกต่อไป แต่ต้องเป็นการเกษตรที่แม่นยำ จึงเป็นทางรอดของเกษตรกรไทย”
ด้าน ดร.ดนุช กล่าวว่า ขณะนี้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการทำการเกษตรแบบแม่นยำหรือปรับเปลี่ยนมาเป็น Young Smart Farmer มากขึ้น เพราะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเข้ามาช่วยควบคุมทั้งเรื่องดิน น้ำ ปุ๋ย ได้มากขึ้น โอโซนฟาร์มใน 18 โรงเรือน มี 5 โรงเรือนที่ปลูกเมล่อน มีรายได้ 4 – 5 หมื่นต่อโรงเรือนต่อการตัด 1 ครั้ง ขณะที่ใน 1 ปีสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 2 – 3 ครั้ง หรืออย่างมะเขือเทศ มีเพียงโรงเรือนเดียวยังเก็บผลผลิตมาขายได้ทุกวัน เพราะทุกอย่างเราควบคุมได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ดังนั้น อยากจะเชิญชวนคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเป็น Young Smart Farmer ให้ไปที่อุทยานวิทยาศาสตร์ได้ทุกแห่งในมหาวิทยาลัย เพื่อเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรของประเทศไทยให้แม่นยำและหวังผลได้ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้เกษตรอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Young Smart Farmer (YSF) หมายถึง เกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่กรมส่งเสริมการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ริเริ่มโครงการขึ้นมา มีเป้าหมายที่จะพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการเกษตร ให้รู้จักบริหารจัดการการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถพึ่งพาตนเอง และเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่นสืบต่อรุ่นพ่อรุ่นแม่ได้
โดยในโครงการ Young Smart Farmer ช่วงเริ่มแรก เกษตรกรรุ่นใหม่จะเป็นศูนย์กลางและออกแบบการเรียนรู้งานด้านเกษตรกรรมด้วยตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้จัดการเรียนรู้ ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ Young Smart Farmer หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นจำนวนมาก และกำลังต่อยอดส่งเสริมและพัฒนาเกษตรรุ่นใหม่เหล่านี้ให้เป็นเจ้าของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ด้วย