วันที่ 9 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมคูโบต้าฟาร์ม จ.ชลบุรี และรับฟังแนวทางการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่และชุมชนต้นแบบ “Smart Farming “ที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งโครงการความร่วมมือการพัฒนา “SmartFarming” เพื่อเพิ่มผลผลิตและแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร
นอกจากนี้นายกฯ มอบนโยบายการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรแบบครบวงจร การส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตร การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการ “ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมของไทย” ให้อยู่ในระดับแนวหน้า
นายกฯ ยังย้ำว่าภาคการเกษตร คือ อนาคตของประเทศไทย แต่ปัญหาขณะนี้ คือ เกษตรกรออกจากภาคการเกษตรไปทำอาชีพอื่นเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันรายได้ภาคเกษตรก็ลดลง ดังนั้นต้องช่วยกันหาแนวทางเพื่อทำให้สิ่งที่เป็นอยู่ดั้งเดิมมีมูลค่าสูงขึ้นให้ได้ ประชาชนมีรายได้ที่เหมาะสมและหลุดพ้นจากความยากจน สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้คนไทยอยู่รอด ปลอดภัย พอเพียงและยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับนโยบายขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรแบบครบวงจร การบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ และการส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหาการเผาพืชผลทางเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาหมอกควัน PM2.5 ด้วย
ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิตของเกษตรกรไทยมาโดยตลอด อีกทั้งยังได้มีการประกาศและขับเคลื่อนนโยบายการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ การยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัล การบริหารจัดการแหล่งน้ำและชลประทานเพื่อการเกษตร การจัดการพื้นที่เกษตรเชิงรุกด้วย Agri-map
การบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขจัดความยากจนและสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืนรัฐบาลมีความตั้งใจและปรารถนาให้เกษตรกรไทยมีโอกาสเข้าถึงการทำเกษตรสมัยใหม่ในวงกว้าง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการขับเคลื่อนเครื่องจักรกลการเกษตรที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ซึ่งบางพื้นที่ประสบปัญหาการดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรกล เกษตรกรขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุงรักษา และการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรใช้งบประมาณค่อนข้างสูง
ดังนั้นขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการใช้ “เครื่องจักรกลการเกษตร” ในวงกว้างต่อไป เช่น การสร้าง Start up กลุ่มเกษตรอัจฉริยะ โดยสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยพิเศษหรือเงินอุดหนุนแก่ Young Smart Farmer เพื่อนำไปบริหารจัดการหรือให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรในพื้นที่ การสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรกลโดยการรวมกลุ่มใช้และการจับคู่ (matching) เป็นต้น