กรมวิชาการเกษตรวิจัยพัฒนา”เครื่องปีนมะพร้าว”แทนแรงงานลิง ลดการทารุณกรรมสัตว์ซึ่งใช้ความเร็วเพียง 0.14 เมตรต่อวินาที
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการรณรงค์ให้ประเทศต่างๆ ปฏิเสธผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ได้จากแปลงที่เก็บเกี่ยวโดยลิง เนื่องจากการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการ”ทารุณกรรมสัตว์” ซึ่งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อผู้ปลูกมะพร้าว และผู้ประกอบการของไทยที่ส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากข้อกังวลของ PETA มีการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้เครื่องปีนมะพร้าวแทนแรงงานลิง จะเป็นแนวทางหนึ่งที่สนับสนุนการแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเกษตรกรจะได้เรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ในการเก็บเกี่ยวมะพร้าว
โดยนายสุภาษิต เสงี่ยมพงศ์ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยคิดค้นผลิตเครื่องปีนมะพร้าว ลดการ “ทารุณกรรมสัตว์” โดยพัฒนาจากต้นแบบของประเทศอินเดีย เป็นอุปกรณ์ขาเหยียบไต่ต้นมะพร้าวขึ้นไป มีสองด้านซ้ายขวา แท่นเหยียบขนาด 14×15 เซนติเมตร ทำจากเหล็กเหนียว เชื่อมต่อกับเพลากลมที่ทำจากสแตนเลสยาว 90 เซนติเมตรเพื่อให้ไม่เป็นสนิม ด้านล่างของขาเหยียบทั้งสองข้างมีเหล็กโค้งยาว 34 เซนติเมตร ทำหน้าที่โอบรอบโคนมะพร้าวเพื่อกดค้ำต้นมะพร้าวขณะที่ถ่ายน้ำหนักตัวลงไปเหยียบบนเครื่องปีน
ด้านบนของขาเหยียบมีแผ่นยางกันกระแทก ทำหน้าที่กดรับขาไม่ให้หลุดออกจากเครื่องปีน ปลายสุดด้านบนมีมือจับ สำหรับใช้ยกลวดสลิงเวลาปีนต้นมะพร้าว ลวดสลิงขนาด 2 หุน ยาว 260 เซนติเมตรเมื่อคล้องทำเป็นบ่วงรอบโคนมะพร้าวต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 35 เซนติเมตรขึ้นไป ทำหน้าที่รัดต้นมะพร้าวและพยุงขาเหยียบให้เกาะเกี่ยวต้นมะพร้าวระหว่างที่ใช้มือจับยกขาเหยียบให้ค่อยขยับขึ้นไป
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ต้นแบบเครื่องปีนมะพร้าว ลดการ”ทารุณกรรมสัตว์” ของกรมวิชาการเกษตร มีระบบเข็มขัดล็อกเอวผู้ปีน ผูกติดกับอุปกรณ์ปีนต้นมะพร้าว ซึ่งจะมีความปลอดภัยมากเมื่อปีนขึ้นต้นมะพร้าวที่มีความสูงมาก
นอกจากนี้เครื่องปีน ลดการ”ทารุณกรรมสัตว์” ที่ออกแบบ มีแท่นล็อกสำหรับปีนไปทำกิจกรรมบนคอมะพร้าว เช่น ปาดน้ำตาล หรือขึ้นไปผสมเกสร ส่วนน้ำหนักของชุดอุปกรณ์เครื่องปีนมะพร้าว มีน้ำหนักรวมทั้งสองข้างซ้ายและขวา 10 กิโลกรัม เมื่อปีนขึ้นต้นมะพร้าวสามารถปีนขึ้นลงด้วยความเร็ว 0.14 เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้หากเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเครื่องปีนมะพร้าวสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม โทรศัพท์ 02-5792757 ปัจจุบันมีโรงงาน 3 โรงงานได้นำต้นแบบไปผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว