วันที่ 15 สิงหาคม 65 นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคุณนาตยา สีทับทิม ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำหนดมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาและแปรรูปพืชกัญชงให้เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ณ ห้องประชุมอาคารต้นกล้า ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม (ITC DIPROM) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ DIPROM
โดยมีนายวิจักขณ์ รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายกิตติโชติ ศุภกำเนิด วิศวกรชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งวิศวกรเชี่ยวชาญ และทีมงานดีพร้อม ร่วมกับนายคงศักดิ์ ดอกบัว ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก และนายฉัตรชัย มีโภคา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารกลยุทธ์อุตสาหกรรม พร้อมเจ้าหน้าที่สถาบันพลาสติก ให้การต้อนรับ
การลงพื้นที่และเยี่ยมชมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการดำเนินงานการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพืชกัญชงออกสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมและผลักดันการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพืชกัญชงไทย ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยสถาบันพลาสติกได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เกี่ยวกับพืชกัญชงที่ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ
จากนั้นคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์ปฎิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม อาคารต้นคิด อาคารปฏิบัติการ A (อาคารการเรียนรู้ระบบออโตเมชั่น) และ B (อาคารปฏิบัติการคอมปาวด์พลาสติก) รวมถึงอาคารศูนย์การเรียนรู้ Lean Automation System Integrators
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “กัญชง” ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน โดย น้ำมันจากเมล็ดสามารถนำไปทำประโยชน์ได้ ตั้งแต่น้ำยาซักแห้ง, ครีมกันแดด, เครื่องสำอาง, สบู่, แชมพู, โลชั่นบำรุงผิว, ลิปบาล์ม, ลิปสติก, น้ำมันเชื้อเพลิง, แผ่นมาสก์หน้า ฯลฯ
นอกจากนี้ยังถูกนำไปสกัดเป็นครีมน้ำมันกัญชงช่วยบำรุงผิวที่แห้งให้เกิดความชุ่มชื้น รักษาโรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังแห้งแตก ลดอาการคันได้ผลลัพธ์ดี
ส่วนของเมล็ด ใครที่ไม่ได้เอาน้ำมันจากเมล็ดก็สามารถนำเมล็ดที่ได้ไปให้อาหารนก หรือแม้แต่คนก็รับประทานได้เช่นกัน กลายเป็นน้ำมันจากโอเมก้า 3 โอเมก้า 6 และโอเมก้า 9
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มวิตามินดีที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ลดความเสี่ยงเกิดมะเร็ง รวมถึงมีสาร linoleic acid, alpha- และ gamma-linolenic acid
นอกจากเรื่องของตัวน้ำมัน หรือเมล็ดโดยตรงแล้ว กัญชงยังมีประโยชน์ที่ได้จากโปรตีนในเมล็ดอีกด้วย ซึ่งมีอยู่ในปริมาณที่สูงมาก จะช่วยนำไปแปรรูปทำเป็นของคาวหวานเพื่อรับประทานได้หลากหลาย เช่น นม ไอศกรีม เนย ชีส น้ำมันสลัด เต้าหู้ โปรตีนเกษตร อาหารเสริม อาหารว่าง ฯลฯ หรือเอาไปแปรรูปเป็นแป้งแทนถั่วเหลืองก็ได้
ส่วนเปลือกที่ได้จากลำต้นนั้นสามารถนำไปทำเป็นเชือก หรือเส้นด้ายเพื่อใช้ในการถักทอทำเครื่องนุ่งห่ม, ผ้าห่ม, ผ้าคลุม ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี หรือใช้ทำพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นด้ายสายสิญจน์ รองเท้าคนที่ล่วงลับเพื่อเปิดทางนำไปสู่สวรรค์ พิธีเข้าทรง หรืออัวเน้งที่ชาวม้งให้ความสำคัญ เป็นต้น
เนื้อไม้ สามารถลอกเปลือกออกแล้วนำไปผลิตเป็นกระดาษได้ ในส่วนของแกนลำต้นมีความพิเศษตรงที่สามารถดูดซับกลิ่น น้ำมัน หรือน้ำได้ค่อนข้างดี แม้ในประเทศไทยเราจะยังไม่มี แต่ในต่างประเทศพบว่านำแกนลำต้นไปผลิตเป็นพลังงานชีวมวล เช่น ถ่านไม้ แอลกอฮอล์ เอทานอล เมทานอล ฯลฯ รวมถึงนำไปผลิตเป็นสิ่งประดับตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ อาคาร
สุดท้ายเป็นเรื่องของใบกัญชงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เยอะ ไม่ว่าจะเป็น ยารักษาโรค, อาหาร, แปรรูปเป็นใบชาเพื่อสุขภาพ, นำผงไปชงดื่ม, เป็นอาหารเสริม, ทำไวน์, เบียร์, เส้นพาสต้า, ขนมปัง, คุกกี้, ซอสปรุงรสจิ้มอาหาร รวมถึงเป็นส่วนประกอบเครื่องสำอางที่จะช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น ใครผิวบอบบาง แพ้ง่ายใช้ได้เลย
ส่วนเส้นในตามความเชื่อจัดว่าเป็นมงคลมาก มีความเหนียว นุ่ม ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่นำไปถักตัดกิโมโนด้วยความทนทานนับ 100 ปีก็ยังสภาพดีอยู่