นักวิจัยชาวจีนจากสถาบันเกษตรศาสตร์และป่าไม้แห่งปักกิ่ง พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการรักษาความสดใหม่และคุณค่าทางโภชนาการของผักหลังการเก็บเกี่ยวควบคู่ไปกับการลดพืชผักเหลือทิ้ง โดยนอกจากจะเพิ่มอายุการเก็บรักษาผักแล้ว ก็ยังเน้นเรื่องการคงคุณภาพของผลผลิตด้วย
หนึ่งในเทคโนโลยีหลักคือการลดอุณหภูมิผักหลังการเก็บเกี่ยวอย่างฉับพลัน (Rapid Precooling) ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการรักษาความสดของผัก อันหมายถึงการลดอุณหภูมิของผักที่เพิ่งเก็บเกี่ยวสู่ระดับที่เหมาะสมอย่างรวดเร็วเพื่อการเก็บรักษาระยะยาว ซึ่งนักวิจัยจากจีนจากสถาบันฯ กล่าวว่าเป็นดัง “เกราะล่องหนที่ช่วยปกป้องความสดใหม่” ให้กับผัก
อย่างไรก็ตาม การลดอุณภูมิอย่างฉับพลันที่ได้ประสิทธิภาพนั้นยังเผชิญอุปสรรคหลายประการ เนื่องจากจำเป็นต้องมีการควบคุมอุณหภูมิที่แม่นยำสำหรับผักแต่ละชนิด รวมถึงระดับความสุกที่แตกต่างกันของผลผลิต
นักวิจัยจึงสร้างแพลตฟอร์มทดลองระดับสูงในห้องปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยบันทึกการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของผลผลิตผักอย่างละเอียดภายใต้สภาพแวดล้อมที่หลากหลาย เพื่อระบุช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผักแต่ละชนิด
ทีมนักวิจัยจีนได้พัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ขึ้นตลอดการวิจัยอย่างเข้มข้นเป็นเวลาหลายเดือน เช่น การควบคุมความเร็วและความชื้นของการทำความเย็นด้วยลม การใช้น้ำแข็งในภาชนะหลายชั้นเพื่อทำความเย็น และการฆ่าเชื้อด้วยเทคโนโลยีไมโคร-นาโอโซน
จ้าวเสี่ยวเยี่ยน เจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยสถาบันวิจัยการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารเชิงโภชนาการ สังกัดสถาบันฯ กล่าวว่า นอกจากเทคโนโลยีแล้ว ทีมวิจัยยังพัฒนาอุปกรณ์การลดอุณหภูมิผักหลังการเก็บเกี่ยวที่ออกแบบมาสำหรับผักแต่ละชนิดโดยเฉพาะ โดยนวัตกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการการลดอุณหภูมิผักหลังการเก็บเกี่ยว แต่ยังช่วยยืดอายุผักที่ส่งขายในย่านเมืองได้ถึงสองเท่าหรืออาจมากถึงสี่เท่า
หวังตาน หนึ่งในทีมงานกล่าว่าปัญหาการเปลี่ยนสีและเนื้อสัมผัสของผัก ถือเป็นความท้าทายสำคัญในการยืดอายุผัก เพราะหากพืชผักมีการเปลี่ยนสีระหว่างการเก็บรักษา ก็มักจะทำให้สินค้าทั้งล็อตถูกปฏิเสธ ส่งผลให้เกษตรกรและธุรกิจสูญเสียรายได้
ทีมวิจัยจึงเริ่มทดลองจากหัวไชเท้า โดยสร้างกระบวนการเปลี่ยนสีเป็นสีฟ้า (blue discoloration) ทั้งในห้องทดลองและสภาพจริง เพื่อทำการวิเคราะห์ ก่อนจะค้นพบสารประกอบในพืชที่เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันและสร้างเม็ดสีฟ้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสีที่ไม่พึงประสงค์ และยังพบว่าการควบคุมองค์ประกอบของก๊าซในบรรจุภัณฑ์ สามารถป้องกันการเปลี่ยนสีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำเร็จนี้นำไปสู่การวิจัยผักชนิดอื่นๆ เพื่อที่จะระบุเอนไซม์สำคัญและกลไกโมเลกุลที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนสีและความเสื่อมในเนื้อสัมผัสของผัก
ในการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง ทึมนักวิจัยได้ศึกษากระบวนการทางชีวเคมีที่ทำให้พริกหั่นชิ้นอ่อนยวบลง และพัฒนาระบบเก็บรักษาแบบผสมผสานที่มีทั้งการลดจุลินทรีย์ การควบคุมแสง และอุณหภูมิต่ำ ซึ่งช่วยยืดอายุพริกหั่นชิ้นออกไปอีก 2-3 วัน
ช่วงสองปีที่ผ่านมา นวัตกรรมต่างๆ ของทีมวิจัยถูกนำไปใช้แล้วใน 75 เมือง อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น โดยเทคโนโลยีและอุปกรณ์รักษาความสดของผักที่สามารถปรับแต่งให้เหมาะสมกับผักแต่ละชนิดได้นั้น ได้พลิกเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานผัก สร้างรายได้จากการขายผักได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มกำไรให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว(Xinhua)