ปลูก “มะยงชิดคุณภาพ” ให้เทคโนโลยี เป็นตัวช่วย

“เทคโนโลยีช่วยทุ่นเวลาและให้ความรู้” คำตอบสั้น ๆ จาก ฉัตรชนก ทองเรือง หรือ ลุงแดง เจ้าของสวนมะยงชิด ทองเรือง เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะสำหรับพืชแปลงเปิดที่เขาได้คลุกคลีมาเกือบ 2 ปี

“มะยงชิด” เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดนครนายกและเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัด ซึ่งสวนทองเรือง แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้าที่คว้ารางวัลการประกวดมานับไม่ถ้วน ผลผลิตของสวนเฉลี่ยปีละ 2 ตัน ถูกจับจองล่วงหน้าและจำหน่ายที่หน้าสวนเท่านั้น ในราคากิโลกรัมละ 350-400 บาท

raknam 5 1024x683 1
ปลูกมะยงชิดให้ได้คุณภาพกับเทคโนโลยี

ด้วยความชอบรสชาติที่หวานและหอมกรอบของมะยงชิด ทำให้ ลุงแดง หันมาปลูก มะยงชิด อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2535 เรียนรู้ สังเกต จดบันทึกการปลูกและพัฒนาการปลูกมะยงชิดของตนเอง จนได้ผลผลิตที่ “รสชาติหวาน หอมกรอบ สีเหลืองส้ม” เป็นที่หมายปองของผู้นิยมบริโภคมะยงชิด

“ที่นี่ปลูกแบบยกโคก มะยงชิดชอบน้ำผ่านแล้วให้แห้ง ไม่ชอบแฉะ เราต้องรู้สรีระของต้นมะยงชิด ทำให้ต้นสมบูรณ์ และยังสัมพันธ์กับความชื้นในดิน อากาศ ต้นถึงจะออกดอก” บนพื้นที่ของสวนขนาด 2 ไร่ที่มีต้นมะยงชิดกว่า 100 ต้น ถูกปกคลุมด้วย มอส สะท้อนถึงปริมาณความชื้นและการให้น้ำของสวนแห่งนี้ ซึ่งลุงแดงมองว่า ผลผลิตที่สมบูรณ์ของสวนส่วนหนึ่งมาจากการให้ความชื้นที่มาก และกลายเป็นโจทย์ร่วมของ ลุงแดง และเจ้าหน้าที่ สวทช. เมื่อครั้งมาประเมินพื้นที่เพื่อติดตั้งระบบการให้น้ำอัจฉริยะว่า ความต้องการน้ำและความชื้นสัมพันธ์ต่อการติดดอกออกผลของต้นมะยงชิดอย่างไร

raknam 1 1024x683 1
ระบบน้ำแบบสปริงเกอร์

“แต่ก่อนรดน้ำสายยางก็ดูจากหน้าดิน ถ้าน้ำหน้าดินไม่ค่อยซึมแสดงว่าน้ำในดินเยอะแล้ว ก็รู้ว่ารดแค่นี้ ความชื้นได้แล้ว หรือความชื้นในอากาศของสวนผม ไม่มีใครเชื่อว่าเท่ากันทุกตำแหน่ง เขาบอกว่าเอาความรู้สึกมาวัด หรือช่วงติดดอก ไม่รู้เลยว่าดินต้องชื้นเท่าไหร่ ต้องมีความชื้นในอากาศเท่าไหร่ถึงออกดอก รู้แต่ว่าถ้าอุณหภูมิ 17-18 องศา ติดกันสามวัน แล้วอากาศอุ่นขึ้น มะยงชิดจะออกดอก”

เมื่อ “ความรู้สึก” ไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นได้และไม่สามารถเป็นตัวแทนของข้อมูล การเข้ามาของเทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะสำหรับพืชแปลงเปิด จึงช่วยคลายความคาใจให้ลุงแดง

“ผมไม่เป็นเลยกับเทคโนโลยีแบบนี้ ยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เจ้าหน้าที่ก็สอนแล้ว แต่เราเองยังไม่คล่อง ต้องทำความเข้าใจ เข้าไปดูค่าต่าง ๆ ในระบบอยู่เรื่อย ๆ เดี๋ยวนี้ไม่ยากแล้ว”

เทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะสำหรับพืชแปลงเปิด เป็นเทคโนโลยีตรวจวัดและควบคุมแบบไร้สายที่ติดตามสภาวะแวดล้อมของพืช พร้อมทั้งควบคุมการให้น้ำตามความต้องการพืชด้วยระบบอัตโนมัติ ตั้งเวลา และควบคุมตรง ประกอบด้วยเซนเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ เซนเซอร์วัดความเข้มแสง และเซนเซอร์วัดความชื้นดิน

“จากเดิมที่เคยใช้สายยางรดน้ำ 1 ชั่วโมง ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ ส่วนการสั่งงานตอนแรกตั้งเป็นแบบอัตโนมัติ ทดลองตั้งการให้น้ำที่ความชื้นในดิน 60% เมื่อค่าความชื้นลดลง ระบบทำงานอัตโนมัติให้น้ำเพื่อเพิ่มความชื้นกลับมาที่ 60% ซึ่งแบบนี้จะทำให้รากเน่าได้ เพราะมะยงชิดไม่ชอบน้ำขัง ชอบน้ำผ่าน ผมก็เปลี่ยนมาสั่งแบบกำหนดเอง โดยดูที่การดูดซึมของน้ำที่หน้าดินคู่กันไป”

หลังจากเรียนรู้การใช้งานระบบควบคู่กับการเปรียบเทียบข้อมูลแปลงที่จดบันทึกไว้ ทำให้ ลุงแดง รู้ค่าตัวเลขที่แทนความรู้สึกได้ว่า ค่าความชื้นในดินของต้นมะยงชิดตั้งแต่ฝนทิ้งช่วง-ก่อนเก็บเกี่ยว ต้องมีความชื้นดินอย่างน้อย 80%

“ผมจดบันทึกข้อมูลทำสวนมะยงชิดทุกปี ใส่ปุ๋ยเมื่อไหร่ รดน้ำวันไหน พอใช้ระบบให้น้ำของ สวทช. ผมก็จดตัวเลขที่ได้จากระบบ ก่อนออกดอก วันที่ออกดอก อุณหภูมิ ค่าแสงเป็นอย่างไร ค่าความชื้นในอากาศ ความชื้นในดินเป็นเท่าไหร่ การใช้ระบบฯ ทำให้รู้ว่ามะยงชิดจะออกดอกต้องใช้ค่าต่างๆ เท่าไหร่ ซึ่งใช้เป็นข้อมูลปีต่อไปได้”

ประสบการณ์เกือบ 30 ปีกับการปลูกมะยงชิด คำแนะนำที่ให้กับสวนต่างๆ ว่าความชื้นในสวนต้องเท่านี้ตามความรู้สึก มาวันนี้ไม่เพียง ลุงแดง มีค่าตัวเลขที่สามารถบอกแทนค่าความรู้สึกได้แล้ว เขายังเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีกับการทำสวนมะยงชิด

“การรู้ค่าตัวเลขทำให้เรามีความรู้กับการทำสวนเพิ่มขึ้น เป็นข้อมูลให้ที่อื่นได้ แล้วยังช่วยทุ่นเวลาก็คือ เราสั่งรดน้ำได้ ไม่ต้องลากสายยางรด ลดปริมาณการใช้น้ำเพราะมีตัวเลขที่เรารู้ความชื้นที่เหมาะ และประหยัดค่าไฟฟ้า แทนที่รดด้วยสายยาง 1 ชั่วโมง เปลี่ยนมารดด้วยสปริงเกิลใช้เวลา 10 นาที ใช้ปั๊มวันละ 1 ชม. กับวันละ 10 นาที แตกต่างกันเยอะเลยนะ”

ที่มา สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร