“แมลง”อาหารทางเลือกใหม่.. “ฟาร์มจิ้งหรีดไทย”สู่สากลด้วยมาตรฐาน GAP

แมลงเป็นอาหารทางเลือกใหม่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใช้เป็นอาหารทดแทนโปรตีนจากสัตว์ใหญ่ได้ดี บ้านเรายังส่งออกน้อย เป็นโอกาสของเรา การเลี้ยงแมลงใช้พื้นที่และน้ำไม่มาก ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เลี้ยงในชุมชนได้” ณธัชพงศ์ รักศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง “เปี่ยมสุขฟาร์ม” สะท้อนมุมมองต่อโอกาสทางการตลาดของแมลง ดังเช่น “จิ้งหรีด” ผลผลิตสร้างชื่อของฟาร์ม “เปี่ยมสุขฟาร์ม” เกิดขึ้นจากความต้องการของณธัชพงศ์ และธนเดช ไชยพัฒรัตนา ลูกพี่ลูกน้อง ที่มองหาอาชีพเสริมและหวังพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว

โดยเริ่มต้นจากปรับเปลี่ยนพื้นที่นา 11 ไร่ของครอบครัวเป็นสวนมะนาวด้วยมองเห็นโอกาสทางการตลาดจากราคามะนาวที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

pic bug 8 e1655468692497 1024x699 1
ฟาร์มจิ้งหรีด

“ด้วยเราทำงานธนาคาร จึงคำนวณ ปลูกเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่ ได้กำไรเท่าไหร่ แต่เราไม่มีประสบการณ์ด้านเกษตร พอทำจริง ไม่ได้อย่างที่คิด ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชทำให้ได้ผลผลิตน้อย ช่วง 3 ปีแรกเราไม่ได้กำไรเลย” ณธัชพงศ์ ย้อนความจุดเริ่มต้นการทำเกษตร ซึ่งกลายเป็นบทเรียนสำหรับการเริ่ม “ธุรกิจฟาร์มจิ้งหรีด” ในเวลาต่อมา

“ผงโปรตีนจากจิ้งหรีด” ที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่อเมริกา น้ำหนัก 15 กรัม ราคา 200-300 บาท จุดความคิดให้ ณธัชพงศ์ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจของ “จิ้งหรีดไทย” ในตลาดต่างประเทศ เขาจึงชักชวน ธนเดช วิศวกรหนุ่มหันมาศึกษาข้อมูลจิ้งหรีดอย่างจริงจังทั้งจากอินเทอร์เน็ตและผู้มีประสบการณ์การเลี้ยงจิ้งหรีด ตั้งแต่สายพันธุ์ วัฏจักรชีวิต พฤติกรรมไปถึงวิธีการเลี้ยงหลังใช้เวลาเตรียมตัว 6 เดือน จึงทดลอง“เลี้ยงจิ้งหรีด” 15 กล่องในบริเวณบ้าน

พอลองเลี้ยงจริง ปัญหาเยอะมาก เราต้องเข้าใจวงจรชีวิตและพฤติกรรม “แมลง” ซึ่งเราควบคุมเขาไม่ได้เลย ถ้าเขาไม่กินก็คือไม่กิน เรารู้เลยว่าข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่พอ ต้องศึกษาเพิ่มเติม จนได้มาร่วมอบรมหลักสูตรการพัฒนา “ฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด” คุณภาพในภาคเหนือที่ สวทช. จัดเมื่อปี พ.ศ.2562 และได้รู้จักเจ้าหน้าที่ สวทช. ผู้เชี่ยวชาญ และกรมปศุสัตว์ ซึ่งให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาให้เรามาตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน

หลังตระเวนหาความรู้และอบรมด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำ “ฟาร์มจิ้งหรีดส่งออก” ณธัชพงศ์ และ ธนเดช ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนมะนาวสร้างโรงเรือนเลี้ยงจิ้งหรีด เริ่มจากกล่องเลี้ยง 24 กล่อง นำความรู้ที่สั่งสมมาปรับใช้และพัฒนาการเลี้ยงจิ้งหรีดได้มากขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากการเชื่อมโยงของ สวทช. และกรมปศุสัตว์เป็นที่ปรึกษา จากที่เคยเลี้ยงจิ้งหรีดได้ผลผลิตไม่ถึง 2 กก./กล่อง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงได้ 25-30 กก./กล่อง และได้มากสุดถึง 40 กก./กล่อง

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาฟาร์มผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับ “ฟาร์มจิ้งหรีด “(GAP) และมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (Q) ซึ่งเป็นใบเบิกทางสำคัญสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก

“มาตรฐานจะทำให้ฟาร์มของเราอยู่ได้ ไปต่อได้และเติบโต ปัจจุบันเราเลี้ยงแมลงอยู่ 2 ชนิด คือ จิ้งหรีดทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง (จิ้งหรีดตัวเล็กสีน้ำตาลอ่อน) ในส่วนของจิ้งหรีดได้ทดลองนำไปแปรรูปเป็นจิ้งหรีดทอดกรอบกับโรงงานที่ได้มาตรฐาน อย., GMP Codex (Insect). HACCP เป็นการทดลองตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ Bug Hero ส่วน สะดิ้ง จะส่งไปโรงงานแปรรูปทำผงโปรตีนส่งขายต่างประเทศ เพื่อนำไปบริโภคและเป็นส่วนผสมของอาหาร base food เพื่อเพิ่มคุณค่าโปรตีน ปัจจุบันปริมาณความต้องการสินค้าสูงถึง 12 ตัน/รอบการผลิต แต่เรายังผลิตได้ 3-4 ตัน/รอบการผลิต”

ปัจจุบันฟาร์มมีโรงเรือนเลี้ยงแมลง 2 โรง มีกล่องเลี้ยงรวม 208 กล่อง มีเจ้าหน้าที่ดูแลหลัก 2 คน โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดในกล่องเลี้ยง เพื่อสังเกตพฤติกรรมของแมลงแบบ real time รวมทั้งติดตั้งระบบตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือน (weather station) สามารถดูข้อมูลเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม สวทช. พัฒนาระบบและอุปกรณ์เก็บข้อมูลอุณหภูมิกล่องเลี้ยงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในแต่ละรอบ

“แมลงมีอัตราแลกเนื้อต่ำ (FCR) แมลง 1 กก. ใช้อาหารเลี้ยงประมาณ 2.5 กก. การเลี้ยงไม่ส่งกลิ่นเหม็น และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเลี้ยงสัตว์อื่น ๆ และการเลี้ยงแมลงไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ โปรตีนที่ได้จึงไม่มีสารปนเปื้อน (purify protein) ดูดซึมง่ายนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น เป็นส่วนประกอบ (ingredient) ในอาหารเสริม หรือเครื่องสำอางได้”

เป็นเวลากว่า 3 ปีที่ทั้งสองทำ “ฟาร์มแมลง” อย่างจริงจังบนพื้นฐานความรู้ทางวิชาการ เรียนรู้และลงมือทำ ปรับเปลี่ยนและแก้ไขเพื่อพัฒนาระบบการเลี้ยงให้ได้ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีผลผลิตจำหน่ายได้แล้วและฟาร์มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ทั้งคู่มองว่ายังต้องพัฒนาอีกหลายเรื่องโดยเฉพาะกระบวนการหลังการเก็บผลผลิตที่ยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก

“เราไม่เคยหยุดเรียนรู้ แต่เราจะพัฒนาและคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา อย่างกระบวนการหลังเก็บแมลง เราต้องจัดการทุกขั้นตอนให้เสร็จภายในหนึ่งวัน เพื่อควบคุมคุณภาพของแมลง ตั้งแต่น็อคแมลงด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามมาตรฐานสากล (animalweal fare) ล้างทำความสะอาด ต้มฆ่าเชื้อเพื่อยับยั้งเชื้อ bacteria และสารก่อภูมิแพ้ (histamine) ตากแห้งลดความชื้น เข้าเครื่องคัดแยกกำจัดเศษซาก ก่อนบรรจุแช่แข็งอุณหภูมิ -16 องศา แต่ละขั้นตอนเราใช้แรงงานคนเป็นหลัก เครื่องมือหรือเครื่องจักรที่ช่วยลดระยะเวลาและทุ่นแรงจึงจำเป็น เราจึงต้องหาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ ซึ่งจะทำให้กระบวนการของเราเร็วขึ้นและลดแรงงานได้”

นอกจากทำ “ฟาร์มจิ้งหรีด” ให้ได้มาตรฐาน GAP แล้ว ทั้ง ณธัชพงศ์ และ ธนเดช ยังให้ความสำคัญเรื่องการจัดการของเหลือทิ้งในฟาร์มแบบ Zero Waste โดยนำกากเศษอาหาร มูลจิ้งหรีด เศษผักในฟาร์มมาเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (หนอนทหารเสือ) หรือหนอน BSF ก่อนนำหนอนไปเป็นอาหารปลาและอาหารไก่ไข่ เศษขยะที่เหลือนำไปทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพบำรุงพืชผักในฟาร์ม นอกจากนี้ยังเพาะเลี้ยงแหนแดงไมโครฟิลล่า เพื่อใช้เป็นอาหารของจิ้งหรีด

ปัจจุบันทั้งสองรวมกลุ่มสมาชิกจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนเปี่ยมสุขฟาร์ม”มี ธนเดช เป็นประธานฯผลผลิตของกลุ่มฯ นอกจากมะนาวและแมลง ยังมีพืชผักปลอดภัยจากสมาชิกกลุ่มฯ จำหน่ายในตลาดชุมชน และมีแนวทางส่งเสริมการเลี้ยง “จิ้งหรีด” ให้ชาวบ้านโดยใช้พื้นที่ในฟาร์มเปี่ยมสุขเพื่อควบคุมภาพการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน ขณะเดียวกันที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ที่พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์“การเลี้ยงจิ้งหรีด” ให้ผู้สนใจ

“มีคนมาดูงานมาถามเทคนิค เรายินดีถ่ายทอดและแบ่งบันความรู้ ไม่มีใครเป็นคู่แข่งของเรา เราแข่งกับตัวเอง พัฒนาและต่อยอดในสิ่งที่เราทำทุก ๆ วัน และทำให้ดีที่สุดตามความสามารถของเรา เราถือว่ายิ่งให้ เรายิ่งได้รับ ได้รับมิตรภาพ ได้รับโอกาส และได้รับความสุขจากการเป็นผู้ให้”

ที่มา- สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร ( สท. )