“ระบบให้น้ำอัจฉริยะ”ยกระดับ “สวนทุเรียนไทย”

“สมัยก่อนฤดูกาลกับสภาพอากาศไม่เหมือนสมัยนี้ เดี๋ยวนี้อากาศแปรปรวนเยอะ ถ้าเราคิดวิเคราะห์ไม่เป็น อ่านอากาศไม่ได้ ทำสวนก็จะไม่ประสบความสำเร็จ” ชาลี จันทร์แสง เจ้าของ “สวนชาลี” ต.ตาขัน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เริ่มด้วยการบอกเล่าถึงสภาพอากาศที่ทำให้ “เกษตรกร” ต้องปรับตัว

ชาลี คลุกคลีกับการทำสวนผลไม้มาทั้งชีวิต ทำสวนตามวิถีจากรุ่นพ่อแม่ จนเริ่มหันมาจดบันทึกข้อมูลการทำสวนของตนเองเมื่อกว่า 10 ปี

“อาศัยทำตามพ่อแม่และจำเอา แต่บางทีผมก็จำได้ไม่หมด ก็มาคิดว่าจดบันทึกเป็นข้อมูลไว้ดีกว่า และความต้องการของผลไม้แต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเดาจะผิดพลาด หนึ่งปีที่ลงทุนไปมันจะเสียหาย ข้อมูลที่จดไว้เอามาช่วยทำงานในปีถัด ๆ ไปได้ ให้เราทำงานได้อย่างมีทิศทาง ยิ่งสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมแต่ละปีไม่เหมือนกันด้วย”

k.charlee 2 1024x806 1
ชาลี จันทร์แสง

ข้อมูลฝนตกช่วงไหน นานแค่ไหน แมลงศัตรูพืชตัวเริ่มเข้าแปลงช่วงเวลาใด จัดการวิธีไหน ให้น้ำเมื่อไหร่ นานแค่ไหน ลักษณะต้นหลังให้น้ำเป็นอย่างไร ฯลฯ คือข้อมูลที่ ชาลี จดบันทึกการทำสวนทุเรียน เงาะ ลองกอง มังคุดและมะยงชิด รวมกว่า 30 ไร่ ซึ่งไม่เพียงใช้เป็นข้อมูลสำหรับทำสวนในปีต่อไป หากเขายังต้องการส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ให้ลูกสาวที่จะมารับช่วงดูแลสวนจากเขาเพื่อไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก เช่นเดียวกับที่เขาติดตั้งเทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะสำหรับพืชแปลงเปิดของ สวทช. ก็เพื่อให้การทำสวนของคนรุ่นลูกได้มีตัวช่วยเพิ่ม

ผมพยายามเก็บข้อมูลไว้เพื่อจะส่งต่อให้ลูก ๆ ผมทำวันนี้ เพื่ออนาคตข้างหน้า ผมคิดว่าถ้าเรามีข้อมูลบันทึกไว้ ลูก ๆ ก็จะสานต่องานเราได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาอย่างรุ่นผมที่ใช้ความรู้สึก ใช้ภูมิปัญญาของรุ่นพ่อแม่ แต่ถ้าเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไป ผมว่าจะได้ผลดียิ่งขึ้น”

ไม่เพียงเปิดรับเทคโนโลยีให้สวนของตนเองแล้ว ในฐานะรองประธานแปลงใหญ่มังคุดอำเภอบ้านค่าย ชาลี ตั้งใจที่นำความรู้จากเทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะนี้ถ่ายทอดให้สมาชิกเกษตรกรในพื้นที่ โดยหวังให้เป็นเครื่องมือที่จะดึงดูดให้เพื่อนเกษตรกรและคนรุ่นใหม่ยังรักษาพื้นที่สวนผลไม้ไว้

“หลาย ๆ แปลงในพื้นที่ลูกหลานไม่ทำต่อ ทิ้งแปลงไปทำงานโรงงานหรือรับราชการ น่าเสียดายที่สวนผลไม้จะหายไป สมัยนี้เป็นยุคนวัตกรรมเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ เรามีที่ดินอยู่แล้ว เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการทำสวน คนรุ่นใหม่จะได้อยากทำสวนมากขึ้น”

ชาลี ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะสำหรับพืขแปลงเปิดเมื่อช่วงปี พ.ศ.2564 หลังผ่านเกณฑ์ประเมินเข้าร่วมโครงการ “การขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยี Smart farm ด้านการเกษตร กลุ่มไม้ผลภาคตะวันออก ผู้ปลูกทุเรียน พื้นที่จังหวัดระยอง” จาก สวทช. โดยได้ติดตั้งระบบการให้น้ำอัจฉริยะครอบคลุมแปลงทุเรียน 4 ไร่ และปรับเปลี่ยนปั๊มน้ำจาก 2 แรงม้าเป็น 3 แรงม้า รวมทั้งเปลี่ยนหัวจ่ายน้ำจากที่เคยใช้ 600 ลิตร/ชม. เป็น 120 ลิตร/ชม. ตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ สวทช.

“ผมก็คิดจากประสบการณ์และข้อมูลที่เคยจดไว้ คำนวณแล้วว่าถ้าปรับเป็น 120 ลิตรและให้น้ำ 1 หรือ 2 ชั่วโมงพร้อมกันทั้งแปลง ก็ได้ใกล้เคียงกับหัว 600 ที่ให้น้ำครึ่งชั่วโมง แต่ต้องให้ทีละครึ่งแปลง ต้นทุเรียนก็ยังได้รับน้ำพออยู่ ก็เห็นด้วยกับที่เจ้าหน้าที่บอก”

เกือบปีที่ ชาลี ได้ใช้งานเทคโนโลยีนี้ โดยสั่งรดน้ำผ่านโทรศัพท์มือถือ เมื่อเห็นว่าค่าตัวเลขจากเซนเซอร์ความชื้นดิน ความชื้นสัมพัทธ์และอุณหภูมิอากาศที่ปรากฏบนระบบ ส่งผลต่อความต้องการน้ำของต้นทุเรียน โดยเขายังคงไม่ทิ้งการจดบันทึกข้อมูลเก็บไว้

“ก็ยังจดตัวเลขค่าในระบบเก็บไว้ เพื่อให้รู้สภาพแวดล้อมในแต่ละช่วง ผมก็ดูสภาพต้นและดูค่าตัวเลขที่แสดงว่าสัมพันธ์กับที่ผมคิดไว้หรือไม่ เช่น ผมคิดว่าต้นไม้ขาดน้ำ ก็มาดูค่าตัวเลขอุณหภูมิอากาศและความชื้นในดินที่ระบบ แล้วจดข้อมูลต่าง ๆ เก็บไว้ ส่วนการให้น้ำดูที่ค่าความชื้นในดิน อุณหภูมิอากาศซึ่งจะสัมพันธ์กัน ระยะเวลาการให้น้ำก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละวันและการดูดซึมของต้นทุเรียนว่ามีความชื้นเหลือเท่าไหร่ ถ้าเหลือเยอะ ก็ให้น้ำไม่ต้องนาน อย่างเช่นช่วงติดดอก ความชื้นในดินต้องไม่ต่ำกว่า 20 แล้วให้น้ำไปถึง 35 หรือ 40 หลังจากต้นดูดซึมน้ำและการระเหยของน้ำ ความชื้นจะลงมาอยู่ที่ 35 ก็ใช้ได้แล้ว”

จากที่เริ่มใช้เทคโนโลยีระบบให้น้ำอัจฉริยะฯ เพียงไม่นาน ชาลี จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าระบบฯ ช่วยเพิ่มผลผลิตหรือลดต้นทุนค่าน้ำค่าไฟได้ แต่สิ่งที่บอกได้ชัดเจนคือ ความสะดวกที่เพิ่มขึ้นจากการสั่งงานผ่านโทรศัพท์ และได้ใช้ความรู้เรื่องการปรับเปลี่ยนหัวจ่ายน้ำไปใช้กับแปลงทุเรียนและมังคุดอีกแห่งหนึ่ง

“ผมมองว่าถ้าได้ใช้ระบบเต็มที่ ก็จะช่วยเพิ่มผลผลิตได้ เพราะอุณหภูมิความร้อนสูง เมื่อเปลี่ยนหัวจ่ายน้ำแบบหยาบมาเป็นละเอียด ลดอุณหภูมิได้ดีกว่า เมื่อความร้อนไม่สูง ต้นไม้กินน้ำได้ดีกว่า อีกอย่างหัวน้ำแบบหยาบ น้ำไหลทิ้งโดยยังไม่ซึมถึงราก แต่หัวเล็กให้น้ำนานขึ้นแต่ซึมลงดินได้ดีกว่า”

สำหรับชายวัย 55 ปีอย่างชาลี เขามองว่า การใช้งานเทคโนโลยีระบบให้น้ำอัจฉริยะไม่ยาก อาศัยประสบการณ์ ความเข้าใจสภาพอากาศ ความชื้นและความต้องการของต้นไม้ โดยมีข้อมูลจากระบบที่บอกค่าตัวเลขได้ชัดเจนกว่าความรู้สึก และไม่ต้องคาดเดาเองเหมือนที่ผ่านมา

“ปรีชา กาละวัย” อดีตโปรแกรมเมอร์บริษัทขุดเจาะน้ำมันจากพนักงานบริษัทมีเงินเดือนประจำ ได้ผันตัวมาเป็นเกษตรกร “สวนสุเทพทุเรียน” พื้นที่รวมเกือบ 300 ไร่ ที่อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นสวนของครอบครัวภรรยาได้หลายปีแล้ว บอกเล่าถึง การให้น้ำต้นทุเรียนก่อนที่จะได้รับ”ถ่ายทอดเทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะ”สำหรับพืชแปลงเปิด ว่า แต่ก่อนเราอาศัยสังเกตลักษณะดินแห้ง หรือใบสลดก็ให้น้ำ ไม่มีค่าตัวเลขอ้างอิง ไม่มีคำนวณการให้น้ำ ซึ่งบางทีให้น้ำมากหรือน้อยไปก็มีผลได้ ดอกอาจจะร่วง หรือแม้แต่ติดลูกแล้ว ลูกอาจแตก ผลผลิตเกิดความเสียหายได้

“พื้นฐานผมก็ช่วยพ่อแม่ทำเกษตรมาตั้งแต่เด็ก เป็นไร่อ้อย สับปะรด และสวนมะละกอที่กาญจนบุรี ช่วงที่ยังไม่ได้ลาออกจากงานประจำ ก็แวะเวียนมาสวนทุเรียนอยู่บ้าง”

3 1 1024x768 1
ปรีชา กาละวัย

“สวนสุเทพทุเรียน” อยู่ไม่ไกลจาก “สวนบัวแก้ว” ของ สมบูรณ์ งามเสงี่ยม เกษตรกรที่ได้ติดตั้งเทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะฯ ของ สวทช. และเป็นจุดเรียนรู้ให้เกษตรกรซึ่ง ปรีชา มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม

และด้วยทำงานด้านโปรแกรมเมอร์ เขาจึงสนใจเทคโนโลยีดังกล่าว จนเมื่อ สวทช. เปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ “การขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยี Smart farm ด้านการเกษตร กลุ่มไม้ผลภาคตะวันออก ผู้ปลูกทุเรียน พื้นที่จังหวัดระยอง” เขาจึงไม่รีรอจะยื่นใบสมัคร และผ่านการประเมินจาก สวทช. จนได้รับติดตั้งระบบเมื่อปลายปี 2563 บนแปลงทุเรียนขนาด 11 ไร่

“ช่วงแรกที่ติดตั้งมีตู้อุปกรณ์ มีปรับเปลี่ยนหัวจ่ายน้ำจากเดิมที่ผมใช้ขนาด 400 ก็เปลี่ยนเป็นขนาด 120 ทำให้รดน้ำได้พร้อมกันทั้งแปลง จากที่ต้องเปิดปิดประตูน้ำทีละครึ่งแปลง แต่พอเป็นหัวขนาดเล็กก็จะเจอปัญหาตะไคร้น้ำอุดตัน ก็ต้องสำรวจและล้างทำความสะอาด ส่วนปั๊มผมใช้ 15 แรงม้า รองรับกับระบบได้อยู่ จึงไม่ต้องเปลี่ยน อุปกรณ์เซนเซอร์ที่ติดตั้งก่อนก็มีเซนเซอร์วัดความชื้นดิน เซนเซอร์วัดความชื้นสัมพัทธ์อากาศและเซนเซอร์วัดค่าความเข้มแสง ส่วนอุปกรณ์วัดกระแสลมและทิศทางลมติดตั้งเพิ่มภายหลัง ”

หลังจากได้ใช้งานระบบ ปรีชา เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนจากการทำสวนก่อนหน้านี้ นั่นคือ สามารถเปิดปิดการให้น้ำได้จากทุกที่ผ่านโทรศัพท์มือถือ และสามารถควบคุมความชื้นในดินได้

“เซนเซอร์วัดค่าความชื้นในดินบอกตัวเลข ณ เวลาปัจจุบัน ช่วยให้เราตัดสินใจว่าควรรดน้ำได้แล้วหรือยัง หรือว่าจะรดช่วงไหน ซึ่งเราจะดูควบคู่กับค่าความชื้นสัมพัทธ์ ถ้าความชื้นในอากาศสูง แล้วเรายังรดน้ำซ้ำอีก จะทำให้ทุเรียนแตกใบอ่อน หรือในระยะติดดอก ดอกก็จะร่วง ส่วนอุปกรณ์วัดกระแสลมและทิศทางลมช่วยเราในช่วงหน้าแล้ง อย่างช่วงที่ลมหนาวเริ่มมา ถ้าลมแรง เราต้องเพิ่มน้ำ เพราะถ้ามีลมมาก ใบจะคายน้ำมากกว่าปกติ ความชื้นในดินลดลง ดังนั้นเมื่อมีค่าตัวเลขให้เห็นชัดเจน ก็ช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น”

จากเดิมที่ไม่มีตัวช่วยตัดสินใจการให้น้ำสวนทุเรียน เมื่อมีเทคโนโลยีให้น้ำอัจฉริยะนี้เข้ามาช่วยบริหารจัดการสวน ทำให้ ปรีชา ลดความผิดพลาดจากการจัดการสวนเหมือนในปีก่อน ๆ และนั่นหมายถึงผลผลิตที่น่าจะเพิ่มขึ้น

“ผลผลิตก่อนหน้านี้บางครั้งก็เกิดความเสียหาย เช่น เราให้น้ำผิดพลาด ผลผลิตก็ร่วงไปเยอะ หรือเรื่องพลังงานที่เราใช้ ที่ผ่านมาเราใช้หัวจ่ายน้ำขนาดใหญ่ ก็รดน้ำไหลทิ้งไปเปล่า ๆ ”

ในฤดูผลิตปี 2564/2565 ของแปลง 11 ไร่ ที่ติดตั้งเทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะฯ ปรีชา บอกว่า ปีนี้ผลผลิตน่าจะดีขึ้น ใบอ่อนแตกไม่เยอะมากเหมือนแปลงอื่น คาดว่าผลผลิตน่าจะได้ถึง 20 ตัน จากที่เคยได้ 13 ตัน ซึ่งทุเรียนของสวนส่งออกจีนร้อยละ 90 ปีนี้ได้ราคาอยู่ที่ 170 บาท/กก.

ด้วยมีประสบการณ์ด้านโปรแกรมเมอร์ ปรีชา จึงมองการต่อยอดเทคโนโลยีนี้ในด้านของการดึงข้อมูลจากระบบมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์เพื่อจัดบริหารจัดการสวนทุเรียนให้ดียิ่งขึ้น เพราะข้อมูลจำเป็นสำหรับการทำสวน อีกทั้งเขายังมองว่ามีโอกาสที่จะติดตั้งเทคโนโลยีนี้เพิ่มในแปลงอื่น แต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับขนาดแปลง บางแปลงมีพื้นที่มาก อาจต้องเพิ่มมอเตอร์หรือวาล์วน้ำ

ขอบคุณ ข้อมูลจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร ( สท. )