วันที่ 22 มิถุนายน 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีและพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลักดันส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติใน “อุตสาหกรรมประมง” เดินหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า แรงงานใน “ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล” ถือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานของประเทศและของโลก โดยนายกฯ ชื่นชม ที่“อุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย” ได้รับเอาแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Seafood Good Labour Practices – GLP) มาใช้ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อพัฒนาแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ รวมถึงแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมประมง ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ และไม่มีการค้ามนุษย์ซึ่งกระทรวงแรงงานยังได้พัฒนาและส่งเสริม GLP ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน 4 กิจการประเภท ได้แก่ กิจการทั่วไป กิจการสัตว์ปีก กิจการฟาร์มเพาะกุ้ง และ อุตสาหกรรมอาหารทะเล
โดย GLP สำหรับอุตสาหกรรมในอาหารทะเลได้รับการสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ทั้งนี้ ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ประเทศผู้ส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยในปี พ.ศ. 2564 “ภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปไทย” ส่งออกผลิตภัณฑ์มากกว่า 1.6 ล้านตัน มูลค่ากว่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการจ้างงานแรงงานประมาณ 600,000 คนในประเทศไทย
รัฐบาลพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับความคุ้มครองแรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการไทยพร้อมส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูภายหลังโควิด – 19 รัฐบาลไทยก็ได้เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมธุรกิจและคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะการคุ้มครองแรงงานในประเทศไทยทุกคนทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างชาติ ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการทำงานจากโควิด – 19 นายธนกร กล่าว
ทั้งนี้ในปี 2564 ภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มากกว่า 1.6 ล้านตัน มีมูลค่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา มีการจ้างงานแรงงานประมาณ 600,000 คนในประเทศไทย
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย แรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลถือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานของประเทศ และของโลก กระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน รวมถึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม โดยการกำหนดมาตรการที่เข้มข้นและจริงจัง ในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ การเลือกปฏิบัติและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งเป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในระดับภูมิภาค และระดับสากล