กรมประมงเปิดกระแส 5 ลิสต์ปลาสวยงามไทยดังไกลทั่วโลกพร้อมดันมาตรฐานปลาไทย “สวยคุณภาพ” ออกผงาดตลาดต่างแดน

กรมประมงเปิดกระแส 5 ลิสต์ปลาสวยงามไทยดังไกลทั่วโลก พร้อมดันมาตรฐานปลาไทย “สวยคุณภาพ” ออกผงาดตลาดต่างแดน

“ปลาสวยงาม” เป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันเทรนด์ของกลุ่มลูกค้าผู้นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงทั่วโลกหันมาเลือกสัตว์น้ำสวยงาม เนื่องจากเลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่จำกัด และราคาไม่แพง ปลาสวยงามจึงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้เลี้ยงทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจุดเด่นจะอยู่ที่เลี้ยงดูแลง่าย ผู้เลี้ยงยังสามารถเพลิดเพลินไปกับการตกแต่งตู้ด้วยการจำลองระบบนิเวศใต้น้ำให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติได้ในแบบที่เราต้องการ ทำให้ผู้เลี้ยงได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เหมาะกับวิถีชีวิตผู้คนในยุคมิลเลนเนียม

S 71131175

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปลาสวยงามเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยถือว่ามีปัจจัยพื้นฐานที่ได้เปรียบประเทศคู่แข่งขันในหลายด้านทั้งในเรื่องความพร้อมทางศักยภาพของเกษตรกร เทคนิคการเพาะเลี้ยง การพัฒนาสายพันธุ์ ลักษณะภูมิประเทศ และภูมิภาคอากาศที่เหมาะสม ฯลฯ ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นอยู่ในระดับประเทศผู้ส่งออกปลาสวยงามที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลก โดยกรมประมงได้ให้ความสำคัญด้านการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พันธุ์ปลาสวยงามพื้นเมืองของไทย โดยได้ดำเนินงานภายใต้แผนการพัฒนาการผลิตและการตลาดสัตว์น้ำสวยงาม (พ.ศ. 2565 – 2570) เพื่อขับเคลื่อนให้เกษตรกรมีความพร้อมในการผลิตสัตว์น้ำสวยงามให้เป็นที่ต้องการและได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จากรายงานผลการดำเนินงานของกรมประมงพบว่า ปัจจุบันปลาสวยงามของประเทศไทยได้รับ การยอมรับในตลาดโลกเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านความหลากหลายของสายพันธุ์ ความสวยงาม แปลกใหม่ ราคาไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้งประเทศไทยยังมีการผลักดันให้ผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มเพื่อควบคุมคุณภาพและการกักกันโรคของปลาสวยงามในการส่งออกให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ค้าทั่วโลกมากยิ่งขึ้น อันจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกในแต่ละปีที่มากกว่า 700 ล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 5 ของโลกมีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 7.38

นอกจากนี้ ด้านการอนุรักษ์ กรมประมงสามารถพัฒนาเทคนิคการเพาะขยายพันธุ์ปลาสวยงามพื้นเมืองของไทยได้เป็นผลสำเร็จหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ ปลาปล้องอ้อย ปลาซิวข้างขวาน ปลาก้างพระร่วง ปลารากกล้วย เป็นต้นและมีนโยบายในการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเพาะเลี้ยงให้เกษตรกรได้มีการเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เพื่อผลักดันธุรกิจปลาสวยงามควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยการปลูกสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติ

S 71131179

ด้านนางอรุณี รอดลอย ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำและพรรณไม้น้ำสวยงาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลาสวยงามไทยเป็นปลาที่ตลาดยังคงต้องการอย่างต่อเนื่อง โดยจากการสำรวจความต้องการของตลาดพบว่าปลาสวยงามที่ได้รับความนิยม ได้แก่

S 71131181
S 71131182

1.ปลากัด : ปลาสวยงามที่มีปริมาณการส่งออกสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ได้รับความนิยมในตลาดต่างชาติ จนกลายเป็นอีกหนึ่งทูตวัฒนธรรมที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตปลากัดใหญ่ที่สุดในโลก โดยผลิตและส่งออกปลากัดไปกว่า 80 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สิงคโปร์ จีน อิหร่าน ฯลฯ ปริมาณการส่งออกปลากัดเฉลี่ยมากกว่า 20 ล้านตัวต่อปี สร้างรายได้ให้ประเทศปีละกว่า200 ล้านบาท จุดเด่นของปลากัดไทยที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก คือ มีลักษณะของครีบหางที่มีความหลากหลายทั้งครีบสั้นและครีบยาวหางแบบพระจันทร์ครึ่งดวง (Halfmoon) หางมงกุฎ (Crowtail) 2 หาง (Doubletail) หรือที่มีครีบหูใหญ่ เช่น หูช้าง (Bigears/Dumbo) รวมไปถึงสีสันที่มีความสวยงามฉูดฉาดสะดุดตา อีกทั้งยังใช้พื้นที่น้อย เลี้ยงง่าย จึงเหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแล ปัจจุบันเกษตรกรไทยได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้แปลกใหม่ สวยงาม โดยเฉพาะสีสันที่สามารถเลือกเพาะปลาให้มีสีตามที่ต้องการได้ ยกตัวอย่าง ปลากัดสีธงชาติ ซึ่งนอกจากจะมีสีขาว น้ำเงิน แดง อยู่ในตัวเดียวกัน ยังสามารถทำให้สีเรียงต่อกันคล้ายธงชาติไทยได้อีกด้วย

S 71131183
S 71131184

2. ปลาหางนกยูง : ปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันแพร่หลายทั้งตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม ราคาไม่แพง เลี้ยงง่ายโตไว แพร่พันธุ์ได้ง่าย ออกลูกเป็นตัว ผู้เลี้ยงนิยมนำมาเลี้ยงในตู้พรรณไม้น้ำ มีปริมาณการส่งออกอันดับต้นๆ และมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมีประมาณ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ Cobra (คอบร้า) Tuxedo (ทักซิโด้) Mosaic (โมเสค) Grass (กร๊าซ) และ Albino Solid ( เช่น Full Red) ปัจจุบันเกษตรกรไทยได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลาเหล่านี้ให้มีลักษณะสวยงาม แข็งแรง สมส่วน ครีบหางใหญ่ และที่สำคัญมีสีสันลวดลายตรงตามสายพันธุ์ รวมทั้งมีการพัฒนาให้มีสายพันธุ์ใหม่ อาทิ ปลาหางนกยูงหูช้าง (Bigears Goppy)

S 71131187
S 71131188%E0%B8%84

3. ปลาซิวข้างขวาน : ปลาสวยงามทางเศรษฐกิจอีกชนิดที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ จากผู้เลี้ยงปลาสวยงาม โดยส่วนใหญ่นิยมนำมาเลี้ยงในตู้พรรณไม้น้ำ เนื่องจากปลาชนิดนี้มีลักษณะสวยงามและสะดุดตาตรงลำตัวที่มีแถบสีดำคล้ายรูปขวาน เหนือครีบท้องยาวจรดโคนหาง อีกทั้งยังเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก ชอบว่ายน้ำรวมกันเป็นฝูง มีสีสันสวยงาม เมื่อนำไปเลี้ยงในตู้พรรณไม้น้ำจะทำให้ตู้ไม้น้ำโดดเด่นมากยิ่งขึ้น จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด มีมูลค่าการส่งออกปีละเกือบ 1 ล้านตัว รวมมูลค่าประมาณ 3.5 ล้านบาท/ปี และยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมี 2 ชนิด ได้แก่ 1.ซิวข้างขวานเล็ก 2.ซิวข้างขวานใหญ่ เป็นปลาที่พบได้มากทางภาคใต้ ในแถบจังหวัดตรัง พัทลุง และถูกจับจากธรรมชาติขึ้นมาเพื่อส่งออกจำหน่ายทั่วโลก ส่งผลให้ปลาซิวข้างขวานในธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลง ปัจจุบันกรมประมงสามารถเพาะพันธุ์ปลาซิวข้างขวานเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติสำเร็จพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรเพื่อผลักดันให้เป็นปลาเศรษฐกิจเพื่อทดแทนการจับจากธรรมชาติ

S 71131189%E0%B8%95
S 71131190

4. ปลาก้างพระร่วง : ปลาสวยงามพื้นเมืองไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลกเป็นอย่างมาก จัดเป็นปลาสวยงามที่ถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและส่งออกปีละมากกว่า 1 ล้านตัว สร้างรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 8.7 ล้านบาท ด้วย ลักษณะที่เด่นแตกต่างจากปลาทั่วไปโดยจุดเด่นจะอยู่ที่ลำตัวใสเหมือนกระจกสามารถมองทะลุเห็นก้างกลางลำตัว ปลาก้างพระร่วงจึงมีชื่อสามัญว่า Glass catfish ปัจจุบันผลผลิตปลาก้างพระร่วงได้มาจากการรวบรวมจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียวโดยพบได้ในภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศไทย โดยกรมประมงสามารถเพาะพันธุ์ได้แต่ยังมีอัตราการอดไม่สูงมาก ปัจจุบันกรมประมงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรให้มีการเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออก และกรมประมงมีการอนุรักษ์โดยกำหนดแผนการใช้ประโยชน์ทรัพยากรปลาก้างพระร่วงได้อย่างยั่งยืนโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วม

S 71131185
S 71131186

5. ปลาทอง : เป็นปลาสวยงามได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในบ้านเราที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม สวยงามทั้งประดับตกแต่งสถานที่ บางรายยังเลี้ยงเพื่อเสริมฮวงจุ้ยตามความเชื่อที่ว่าจะช่วยเรียกเงินเรียกทองให้กับผู้เลี้ยง และด้วยลักษณะลำตัวและสีสันที่ต่างกันเมื่อว่ายอยู่ในตู้ มองแล้วดูแล้วสวยงามสบายตา มีชีวิตชีวา ทำให้ผู้เลี้ยงผ่อนคลาย จึงทำให้ตลาดมีความต้องการเป็นอย่างมาก ปัจจุบันปลาทองเป็นปลาสวยงามอีกหนึ่งชนิดที่มีมูลค่าการส่งออกสูงอยู่ในอันดับต้นๆ ประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตปลาทองส่งออกที่สำคัญ มีพื้นที่เลี้ยงส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดราชบุรีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาทองไทยสามารถพัฒนาสีสันปลาทองให้มีความสวยงามแปลกใหม่ได้อยู่เสมอ เช่น ปลาทองคาริโคะ (Calico goldfish) ปลาทองลายเสือ (Tiger goldfish) ปลาทอง Oranda ShortTail เป็นต้น

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า “ประเทศไทย” นับเป็นแหล่งผลิตปลาสวยงามที่มีการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งนอกจากการพัฒนาสายพันธุ์ปลาให้สวยงาม แปลกใหม่เพื่อกระตุ้นความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง กรมประมงยังให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกษตรกรสร้างมาตรฐานในการผลิตสินค้าด้วย อาทิ มาตรฐาน GAP และสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก (สอ.3) ซึ่งจะเฝ้าระวังเรื่องโรงปลาสวยงามที่เป็นข้อกำหนดในการนำเข้าจากประเทศคู่ค้า เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการขายให้กับปลาสวยงามให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่า ปลาสวยงามไทยสวยการันตีด้วยมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลก

สำหรับ ผู้สนใจสอบถามการขอขึ้นทะเบียนหรือมาตรฐานหรือปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาสวยงาม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ กรมประมง เบอร์โทรศัพท์ 02 – 579-1862 และสามารถติดตามข่าวสารด้านการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำสวยงามและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ Facebook page : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ