“ภูมิธรรม”หารือสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ เคาะมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ขอโรงงานรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคากิโลกรัมละ 10 บาทขึ้นไป ที่ความชื้น 14.5% พร้อมช่วยแก้กฎระเบียบ กฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคให้ผู้ประกอบการ เพื่อให้แข่งขันได้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมหารือติดตามสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์และอาหารสัตว์ พร้อมด้วยนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา ว่า ได้ประชุมหารือกับผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ เรื่องการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด โดยอยากเห็นทั้งกระบวนการร่วมมือกัน อยู่ร่วมกัน หาจุดสมดุล เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับเกษตรกร โรงงานผลิตอาหารสัตว์ และผู้ที่ใช้อาหารสัตว์ในการเลี้ยงปศุสัตว์
ทั้งนี้ ผลการหารือทุกฝ่ายรับทราบสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ว่าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์น้อยกว่าความต้องการของตลาด และได้หารือถึงจุดที่เหมาะสมว่าราคาที่โรงงานจะรับซื้อจากเกษตรกร ควรจะอยู่ที่ราคาเท่าใด เบื้องต้นได้ข้อสรุปจะรับซื้อที่ราคาหน้าโรงงาน 10 บาท/กิโลกรัม (กก.) ขึ้นไป ที่ระดับความชื้น 14.5% โดยในรายละเอียดได้มอบให้อธิบดีกรมการค้าภายในไปหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับกระทรวงพาณิชย์ พร้อมที่จะหารือกับผู้ประกอบการอาหารสัตว์ถึงมาตรการต่าง ๆ ที่จะทำให้ปลดล็อกข้อกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีอิสระในการค้าขาย นำเงินเข้าประเทศ แข่งขันในตลาดโลกได้ โดยหากกฎระเบียบ ข้อกฎหมายใด ที่ขัดขวาง หากอยู่ในอำนาจหน้าที่ ๆ ทำได้ ก็จะทำให้ทันที หรือนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ก็พร้อมดำเนินการ
นอกจากนี้ จะเร่งจัดการปัญหาที่อยู่ใต้ดินให้มาอยู่บนดิน เช่น การขนข้าวโพดเถื่อน การเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกสมัยใหม่ ที่มีข้อจำกัดมาก ทั้งการกำหนดมาตรการด้านคาร์บอน สีเขียว ความยั่งยืน ที่จะต้องทำแผนและมีมาตรการรับมือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับการผลิตและการค้าของไทย
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ความต้องการอาหารสัตว์อยู่ที่ปีละประมาณ 20 ล้านตัน ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีละประมาณ 8.37 ล้านตัน โดยผลิตในประเทศได้ปีละ 4.89 ล้านตัน ส่วนที่เหลือต้องนำเข้าประมาณ 1.3 ล้านตัน วัตถุดิบทดแทนอีก 2.15 ล้านตันโดยประมาณ