คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมฯ รายงานการจัดสรรนมโรงเรียน ถึงมือเด็กๆที่แบ่งตามกลุ่มพื้นที่ 5 กลุ่มแล้วกว่าร้อยละ 85 และมี 22 จังหวัดที่จัดส่งนมครบแล้ว 100%
คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ระดับกลุ่มพื้นที่ 5 กลุ่ม ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้จัดสรร สิทธิและพื้นที่การจำหน่าย นมโรงเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว
จากการรายงานการจัดส่งนม พบว่า มีโรงเรียนได้รับนมโรงเรียนแล้ว 85.54 % ของโรงเรียนทั้งหมด และ84.44% ของนักเรียนทั้งหมด จังหวัดที่ส่งนมครบแล้วคือ
กลุ่มพื้นที่ ปทุมธานี
กลุ่มพื้นที่ สุรินทร์
กลุ่มพื้นที่ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี
กลุ่มพื้นที่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์
กลุ่มพื้นที่ นครปฐม พังงา พัทลุง ราชบุรี สงขลา สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี
โดยเด็กนักเรียนได้เริ่มดื่มนมโรงเรียน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2565 อีกทั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ได้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดซื้อซื้อนมโรงเรียนชดเชย เพื่อให้เด็กนักเรียน ได้ดื่มนมโรงเรียนครบ 260 วันต่อปีการศึกษามาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
ก่อนหน้านี้ นายสัตวแพทย์ สรวิศธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยันว่า เด็กนักเรียนจะต้องได้ดื่มนมโรงเรียนครบ 260 วันต่อปีการศึกษา ตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และมีการยกระดับหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการในหลายประเด็น เช่น การนำปริมาณน้ำนมดิบจากการทำสัญญาระหว่างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมกับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบมาใช้ในการจัดสรรสิทธิให้แก่ผู้ประกอบการ
พร้อมทั้งได้มีการตรวจสอบศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่จำหน่ายน้ำนมดิบ ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ที่มีผลผลิตน้ำนมดิบอยู่จริง สามารถจำหน่ายน้ำนมดิบได้ และสอดคล้องกับปริมาณน้ำนมที่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมได้ทำสัญญาไว้อีกด้วย เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม กับผู้ประกอบการทุกราย และรายได้ตกถึงมือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอย่างแท้จริง
อีกทั้งมีการเพิ่มหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการคุ้มครองสิทธิผู้ประกอบการที่ยื่นสมัครไม่เกิน 5 ตัน/วัน ให้ละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น ป้องกันผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมเพิ่มสาขา อาศัยประโยชน์จากการคุ้มครองสิทธิผู้ประกอบการที่ยื่นสมัครไม่เกิน 5 ตัน/วัน ไม่ให้ได้รับการจัดสรรสิทธิในปริมาณมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมรายย่อยและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมขนาดกลางจากกรณีดังกล่าว ดังนั้น การติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องจึงถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2565 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการฯ คือเด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ เกษตรกรสามารถจำหน่ายน้ำนมดิบได้ และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมได้รับการจัดสรรสิทธิอย่างเป็นธรรม