นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริการจัดการเชิงรุก (Agri-Map) และพบปะกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว โดยมี นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอนุชา นาคาศัย) คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ แปลงของนายยุทธนา ทัยบุตร หมู่ที่ 4 บ้านเขาดินไพรวัลย์ ต.นาขุนไกร อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนโครงการสำคัญ คือ Zoning by Agri-Map เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตในพื้นที่เหมาะสมน้อย หรือไม่เหมาะสม เพื่อที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าชนิดเดิม
ทั้งนี้ จ.สุโขทัย มีการใช้ประโยชน์และความเหมาะสมของดินเพื่อการเพาะปลูก (Agri-Map analytic) แบ่งเป็น พื้นที่ทําการเกษตรที่เหมาะสม 548,720 ไร่ และพื้นที่ทําการเกษตรที่ไม่เหมาะสม 301,002 ไร่ ในส่วนของ อ.ศรีสำโรง มีสภาพพื้นที่แห้งแล้ง ดินขาดความสมบูรณ์ ซึ่งเดิมเกษตรกรปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ใช้ต้นทุนสูง แต่ผลผลิตน้อย และประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำ มีน้ำไม่เพียงพอกับภาคเกษตรและอุปโภค บริโภค ซึ่งจากผลการดำเนินงานในพื้นที่ที่ผ่านมา เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความพึงพอใจมาก เนื่องจากได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นที่ สามารถกักเก็บน้ำมีแหล่งน้ำในช่วงหน้าแล้งหรือทำเกษตรผสมผสาน ได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เกิดรายได้เสริม และลดค่าอาหารในครัวเรือนได้ ส่งผลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้ ต.นาขุนไกร เป็นโมเดลต้นแบบ ของจังหวัดสุโขทัยต่อไป
“เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ซึ่งการเปลี่ยนอาชีพมาเลี้ยงโคคณิตศาสตร์ เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างรายได้ ใช้เวลาเพียง 3 ปี ก็สามารถคืนทุนได้ ผมจึงอยากเห็นพี่น้องเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นกำลังซื้อส่วนใหญ่ของประเทศสร้างเงิน สร้างรายได้ จาก “เงินบาทแรกของแผ่นดิน” เพื่อหลุดพ้นจากความยากจน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะต้องหาแนวทางทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยปรับเปลี่ยน ให้ลูกหลานเกษตรกรไทยมีรายได้อย่างยั่งยืน” รมช.อนุชา กล่าว
สำหรับแปลงของนายยุทธนา ทัยบุตร เดิมพื้นที่ปลูกข้าว ทั้งหมด 11 ไร่ พื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว (N) ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว มีรายได้ปีละครั้ง พื้นที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ ปลูกข้าวไม่ได้ผลผลิต ซึ่งต่อมาหมอดินอาสา ได้ให้คำแนะนำให้เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-map) ปรับเปลี่ยนจากข้าวเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ จํานวน 11 ไร่ โดยปัจจุบัน เลี้ยงวัว จํานวน 50 ตัว มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน แบ่งเป็น 1. ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ จํานวน 7 ไร่ (หญ้าแพงโกล่า) 2. ที่อยู่อาศัย และสระน้ำ จํานวน 2 ไร่ 3. คอกวัว จํานวน 2 ไร่ (50 ตัว) จากการเข้าโครงการฯ ทำให้มีรายได้จากการขายหญ้าแพงโกล่า ไร่ละ 4,000 บาท 1 ปี ขายได้ 3 รอบ (ทำขาย 3 ไร่ เป็นเงิน 36,000 บาท/ปี โดยกรมพัฒนาที่ดินได้เข้าการดําเนินการขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด 1,260 ลบ.ม. จํานวน 2 บ่อ จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำโดยการปรับพื้นที่แบบมีคูน้ำความยาว 120 เมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ