ศบค.ชุดใหญ่ เคาะ “พื้นที่สีเขียว” ทั้งประเทศ ถอดหน้ากากอนามัยได้ในที่ไม่แออัด – สถานที่เปิด ขยายเวลาปิดสถานบันเทิง ผับ – บาร์

ศบค.ชุดใหญ่ เคาะพื้นที่สีเขียวทั้งประเทศ มีผลนับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ถอดหน้ากากอนามัยได้ในที่ไม่แออัดสถานที่เปิด ขยายเวลาปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ ยกเลิกThailand pass คนต่างชาติ 

วันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรมีผลนับตั้งแต่ประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ดังนี้

พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 0 จังหวัด – พื้นที่ควบคุมสูงสุด 0 จังหวัด

พื้นที่ควบคุม 0 จังหวัด – พื้นที่เฝ้าระวังสูง 0 จังหวัด

พื้นที่เฝ้าระวัง 77 จังหวัด – ยกเลิกพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังเห็นชอบผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคในประเทศ โดยเริ่มดำเนินการได้ทันทีหรือหลังประกาศราชกิจจานุเบกษา ดังนี้

พื้นที่สถานการณ์ ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ทั้งประเทศ ยกเลิกการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว

มาตรการการใส่หน้ากากอนามัย ควรสวมหน้ากากและให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่แออัด สถานที่ปิดหรือมีการอยู่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก

เงื่อนไขการ “สวมแมสก์” 

  • สถานที่ภายนอกอาคาร ให้สวมหน้ากาก เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น โดยไม่สามารถเว้นระยะห่าง มีความแออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก หรือมีการระบายอากาศไม่ดี เช่น ขนส่งสาธารณะตลาด สนามกีฬาหรือสถานที่แสดงดนตรีที่มีผู้ชม ฯลฯ
  • สถานที่ภายในอาคาร ให้สวมหน้ากาก

สำหรับเงื่อนไขการ “ถอดแมสก์” 

  • อยู่คนเดียว
  • หากอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่พำนักเดียวกัน ต้องสามารถเว้นระยะห่างได้
  • ไม่รวมกลุ่มและในพื้นที่แออัดและอยู่ในที่ระบายอากาศได้ดี
  • มีกิจกรรมที่จำเป็นต้อง “ถอดแมสก์” เช่น รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย บริการบริเวณใบหน้า ศิลปะการแสดง ฯลฯ โดยให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เมื่อกิจกรรมนั้นเสร็จสิ้น ควรสวมหน้ากากทันที

การบริโภคสุราหรือแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในพื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง ให้เปิดบริการได้ตามปกติโดยต้องปฏิบัติมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

สถานประกอบการประเภทสถานบันเทิง ฯลฯ เปิดให้บริการและให้ผู้รับบริการดื่มแอลกอฮอล์ได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเปิดให้บริการตามกฎหมายเดิมกำหนด

การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ผ่อนคลายให้การดำเนินการเป็นไปตามปกติ

การคัดกรองอุณหภูมิ ไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองอุณหภูมิในอาคารสถานที่ (อาจให้มีการคัดกรองอุณหภูมิในสถานที่เสี่ยงหรือพื้นที่ระบาด)

การเว้นระยะห่าง แนะนำให้มีการเว้นระยะห่างตามความเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

มาตรการการรวมกลุ่ม ตรวจคัดกรอง ATK กรณีเป็นผู้ป่วยสงสัยที่มีอาการทางเดินหายใจ หากมีการรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คน ขอให้แจ้งทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ทราบเพื่อเฝ้าระวังการระบาด

นอกจากนี้ ที่ประชุมศบค.ยังเห็นชอบการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยให้บางมาตรการบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา และบางมาตรการมีผลทันที ดังนี้

  1. การยกเว้นการลงทะเบียน TP หรือ CoE ของคนต่างชาติ โดยขอให้สำแดงเอกสารวัคซีนหรือผลการตรวจหาเชื้อแบบต่าง ๆ โดยให้มีการสุ่มตรวจเอกสาร ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ
  2. ยกเลิกมาตรการคัดกรองอุณหภูมิและอาการทางเดินหายใจ ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ
  3. ยกเลิกการกำหนดเงินประกัน (ส่งเสริมการซื้อประกัน)
  4. ให้ปรับระบบ Thailand Pass สำหรับใช้คัดกรองและลงทะเบียนในรูปแบบ Health Declaration Form เพื่อควบคุมโรคติดต่อ เช่น ไข้เหลือง

ข้อเสนอมาตรการการเข้าราชอาณาจักร เริ่ม 1 ก.ค.

  • ยกเว้นการลงทะเบียนระบบ Thailand Pass ทั้งชาวไทยและต่างชาติ
  • ผู้เดินทางแสดงเอกสารการฉีดวัคซีน หรือผลตรวจเชื้อ
  • ให้ดำเนินการสุ่มตรวจผู้เดินทาง (หากสุ่มแล้วผู้เดินทางไม่มีเอกสารรับรองใด ๆ จะดำเนินการตรวจpro-ATK ที่สนามบิน) จนกว่าจะยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน
  • คงระบบ และเปลี่ยนหน้าที่ Thailand Pass สำหรับโรคโควิด-19 เพื่อให้ผู้เดินทางใช้แจ้งรายงานกรณีมีอาการต้องสงสัยโรคติดต่ออันตราย และโรคติดต่อที่ต้องรายงานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข