สนค. ชี้ มังคุดไทย สะเทือน อินโดนีเซียแย่งตลาดจีน แนะ เพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก-หาตลาดใหม่ “ญี่ปุ่น”- เบนเข็มขายมังคุดจีไอ  แต่ 9 เดือนแรก ยังโกยรายได้ส่งออก 1.6 หมื่นล้านบาท

%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A9%E0%B9%8C %E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ. สนค.

วันที่ 9 พ.ย.2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากศึกษาข้อมูลสถานการณ์การค้ามังคุดซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกสำคัญของไทยรองจากทุเรียน พบว่า มากกว่า 90 % ส่งออกไปยังจีน

%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2 %E0%B8%84%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%87
มังคุดไทย

ในปี 2565 ไทยมีพื้นที่ปลูกมังคุด 4.4 แสนไร่ มีผลผลิตรวมกว่า 2.5 แสนตัน แหล่งผลิตสำคัญอยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ จังหวัดที่มีผลผลิตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง นครศรีธรรมราช และ ระนอง โดยผลผลิตมากกว่า 60% มาจากจังหวัดจันทบุรี และมากกว่า 80% ของผลผลิตมังคุดไทยทั้งหมด จะถูกส่งออกไปขายในต่างประเทศ

โดยปี 2565 ไทยส่งออกมังคุดลดลงเหลือ 205,804.31 ตัน หดตัว 19.73% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 13,532.31 ล้านบาท เนื่องจากคู่แข่งคือ อินโดนีเซีย ขยายตลาดส่งออกไปยังจีนซึ่งเป็นตลาดอันดับหนึ่งของไทยได้มากขึ้น

โดยจีนนำเข้ามังคุดไทย มีมูลค่า 545.75 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 21.84% สัดส่วนการนำเข้าลดลงจาก90.9%เหลือ 86.8 % ขณะที่ยอดนำเข้าจาก อินโดนีเซีย มีมูลค่า 82.98 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเกือบ 19.33% สัดส่วนนำเข้าเพิ่มขึ้น จาก 9% เป็น 13.2 %

“มูลค่าการนำเข้าและสัดส่วนการนำเข้ามังคุดจากไทยลดลง แต่อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ดังนั้น ไทยต้องเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดจีน และลดจากการพึ่งพาตลาดจีนด้วยการหาตลาดใหม่ๆ เช่น ญี่ปุ่น รวมทั้งทำตลาดมังคุดที่มีสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์( จีไอ) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ไทยให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีมังคุดที่จดทะเบียนจีไอแล้วคือ มังคุดเขาคีรีวง มังคุดในวงระนอง และมังคุดทิพย์พังงา”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บรรลุข้อตกลงการเปิดตลาดมังคุดไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นโดยไม่ต้องผ่านการอบไอน้ำ (Vapor Heat Treatment: VHT) จากเดิมที่การส่งออกมังคุดไปญี่ปุ่นต้องผ่านการอบไอน้ำเพื่อกำจัดไข่และหนอนแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขการนำเข้าของประเทศคู่ค้า (อาทิ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้) แต่การอบไอน้ำจะทำให้อายุการเก็บรักษามังคุดสั้นลง จึงจำเป็นต้องขนส่งทางอากาศ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ส่งออกและทำให้มังคุดที่ส่งไปญี่ปุ่นมีราคาแพง จากข้อตกลงฯ ดังกล่าว สามารถช่วยลดต้นทุนการส่งออก ช่วยคงความสดใหม่ของผลมังคุดสด ยืดอายุการเก็บรักษาผลมังคุดสดให้ยาวนานขึ้น และสามารถขนส่งทางเรือได้

อีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือจากทางเครื่องบิน ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกมังคุดไทยไปตลาดญี่ปุ่นได้ในราคาที่ถูกลง และทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น จะเห็นได้จาก ในปี 2565 ไทยส่งออกมังคุดไปญี่ปุ่น 82.41 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.38 ล้านเหรียญสหรัฐ (12.98 ล้านบาท) และปี 2566 ช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม – กันยายน) ไทยส่งออกมังคุดไปญี่ปุ่น 129.68 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.73 ล้านเหรียญสหรัฐ (24.98 ล้านบาท) มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 89.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งการลดข้อจำกัดด้านการอบไอน้ำของมังคุดที่จะส่งออกไปญี่ปุ่น ถือเป็นโอกาสหนึ่งในการขยายการส่งออกมังคุดของไทย

สำหรับช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) มังคุดไทยมีปริมาณส่งออกรวม 240,150.09 ตัน ขยายตัว 17.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 483.57 ล้านเหรียญสหรัฐ (16,530.72 ล้านบาท) ขยายตัว 22.11% โดยตลาดส่งออก 3 อันดับแรก ในช่วง ได้แก่ จีน คิดเป็นสัดส่วน 93.75% 2.เวียดนาม 3.45% และ ฮ่องกง 0.71%